บริการเฉพาะทาง ศูนย์ผู้มีบุตรยาก

บริการเฉพาะทาง ศูนย์ผู้มีบุตรยาก

1. การตรวจน้ำอสุจิ และหน้าที่การทำงานของตัวอสุจิ (Semen Analysis) เป็นการตรวจเพื่อทดสอบหาปริมาณ การเคลื่อนไหว และความผิดปกติของเชื้ออสุจิ  เพื่อบ่งบอกภาวะความเป็นหมันในผู้ชาย ซึ่งการมีตัวอสุจิน้อยหรือเคลื่อนไหวไม่ดีหรือมีความบกพร่องในหน้าที่การทำงานของตัวอสุจิ ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากที่พบได้สูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของสาเหตุการมีบุตรยากทั้งหมด 


2. การตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและปัสสาวะ (Hormonal Assay) เป็นการตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ เช่น เอฟ เอส เอช(FSH) ,แอล เอช(LH), โปรแลคติน (Prolactin), เอสโตเจน(Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่  รวมทั้งตรวจฮอร์โมน แอล เอช (LH) ในปัสสาวะเพื่อดูการตกไข่ และตรวจเอช ซี จี(HCG) ในปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์


3. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography)  เป็นการตรวจอุ้งเชิงกรานด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่สูงเกินกว่าที่หูของมนุษย์จะได้ยิน  คลื่นดังกล่าวจะถูกส่งออกไปในทิศทางที่ต้องการ โดยผ่านหัวตรวจที่แนบกับผนังช่องท้อง และยังมีหัวตรวจพิเศษที่ใช้ตรวจผ่านทางช่องคลอด  ทำให้เห็นภาพของมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนกว่าการตรวจทางหน้าท้อง 


4. การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic Gynecological Surgery) การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช เป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยในการรักษาโรคทางนรีเวช เช่น ถุงน้ำรังไข่ ช็อคโกแล็ตชีสต์ พังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่  แก้ไขภาวะมีบุตรยากจากสาเหตุบางประการได้ มีความปลอดภัยสูง เจ็บน้อยจากบาดแผลที่เล็กลง และฟื้นตัวเร็ว พักผ่อนในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดเพียงประมาณ 1-2 วัน กลับไปทำงานใด้ใน 3 – 7 วัน


5. การใช้ยากระตุ้นไข่และนับวันให้มีเพศสัมพันธ์ (Ovulation Induction and Timing of Intercourse) สำหรับในรายที่มีปัญหาไข่ไม่ตก 


6. การผ่าตัดแก้หมัน และจุลศัลยกรรมของท่อนำไข่ Tubal Re-anastomosis (Reversal of Tubal Resection) and Tuboplasty การทำจุลศัลยกรรมของท่อนำไข่ มีบทบาทสำหรับในบางราย เช่น ในรายที่ต้องการแก้หมัน และในรายที่มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานไม่มากนัก การผ่าตัดต่อท่อนำไข่สามารถทำผ่านกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายถึง 20 เท่า


7. กิ๊ฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer : GIFT)  เป็นการนำเอาไข่และตัวอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วใส่กลับเข้าไปที่ท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในร่างกายฝ่ายหญิง


8. ซิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer : ZIFT)  เป็นการนำตัวอ่อนในระยะหลังการปฎิสนธิภายนอกร่างกายแต่ก่อนที่จะมีการแบ่งตัว ใส่กลับเข้าไปที่ท่อนำไข่


9. TESE  เป็นการผ่าตัดที่อัณฑะ เพื่อหาตัวอสุจิออกมาทำอิกซี่ (ICSI) ในกรณีที่ฝ่ายชายมีท่ออสุจิตีบตันไม่มีตัวอสุจิออกมาในน้ำเชื้อ


10. การคัดเชื้อเพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก (Intra uterine insemination : IUI)  หลักการของวิธีนี้ คือ การฉีดเชื้ออสุจิที่แข็งแรง เคลื่อนไหวดี เข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ไข่ตก โดยฝ่ายหญิงจะตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาดฟองไข่ เมื่อฟองไข่โตได้ขนาดที่ต้องการจะฉีดยาเพื่อบังคับให้ไข่ตกและเชื้ออสุจิมาพบกันในเวลาเดียวกัน  โดยอาจเป็นรอบธรรมชาติหรือรอบที่ให้กระตุ้นไข่