สัญญาณเตือนโรคที่ต้องรู้...ปวดหัวแบบไหนบอกอะไรเรา

สัญญาณเตือนโรคที่ต้องรู้...ปวดหัวแบบไหนบอกอะไรเรา

     โรคปวดศีรษะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเวชปฎิบัติ สาเหตุของการปวดศีรษะที่พบได้เช่น กลุ่ม Tension, ไมเกรน, ปวดศีรษะที่เกิดจากพยาธิสภาพของสมอง ศีรษะ หรือต้นคอ อย่างไรก็ตาม ยังมีปวดศีรษะบางกลุ่ม ที่พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

     ภาวะดังกล่าวพบได้ประมาณ ร้อยละ 0.1 ของประชากร พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์จัดอยู่ในกลุ่ม (Trigeminal Autonomic Cephalalgias) ลักษณะอาการ ปวด ผู้ป่วย มักจะมี อาการปวดศีรษะข้างเดียว แถวลูกตา ขมับ อาการปวดมีความรุนแรง “ Suicidal Headache”  สิ่งสำคัญ ผู้ป่วย จะมีอาการน้ำตาไหล ตาแดง น้ำมูกไหล หนังตาตก ข้างเดียวกับข้างที่ปวดศีรษะ ระยะเวลาที่ปวดกินเวลาเป็นชั่วโมงแล้วค่อยดีขึ้น ความถี่อาจเกิด 1-8 ครั้งต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังอาจมีอาการทุกวัน

     สาเหตุของการปวดศีรษะดังกล่าวเชื่อว่าเกิดจากสารสื่อประสาทบริเวณต่อมใต้สมอง (posterior hypothalamus) ร่วมกับระบบประสาทอัตโนมัติ (parasympathetic) มีความผิดปกติ โดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การดื่ม alcohol, อาหารจำพวกไนเตรต ,การอยู่บนที่สูงที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ

     การวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติเป็นสำคัญร่วมกับการตรวจร่างกายทางระบบประสาทและการส่งเอกซ์เรย์สมอง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อแยกสาเหตุอื่น

     การรักษาแบ่งออกเป็นการให้ยาป้องกันได้แก่ การให้ยาลดความดันบางกลุ่ม เช่น Verapamil , ยากันชัก ( Na Valproate, Topiramate ), ยากลุ่ม Steroid,  และการรักษาขณะมีอาการ เช่น การดมออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูง, การใช้ยากลุ่ม Triptan ในรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือพ่นจมูก เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการรักษาโดยการ block เส้นประสาท (occipital nerve block) ยังช่วยรักษาและป้องกันอาการปวดได้

โดยสรุปโรคปวดศีรษะมีหลายประเภทซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะควรรีบมาพบแพทย์เพื่อ ให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การกินซื้อยาแก้ทานเองบ่อยครั้งอาจกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นได้ (Medical Overuse Headache) ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ พบได้น้อยแต่อาการรุนแรง ส่งผลกระทบต่อ การใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้

ที่มา : Trigeminal Autonomic Cephalalgias Continumm. 2015

ขอบคุณข้อมูล
นพ.สิริชัย กิตติชาญธีระ
อายุรแพทย์ระบบประสาท
ศูนย์สมองและระบบประสาท (Comprehensive Neurology Center)
โรงพยาบาลนนทเวช