โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อม Age-related Macular Degeneration or AMD

โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อม Age-related Macular Degeneration or AMD

โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อม เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอตา ซึ่งเกิดเมื่อคนมีอายุเพิ่มมากขึ้นนับเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นในผู้สูงอายุ โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม
  • มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจึงมักเรียกว่า โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมเนื่องจากอายุ (Age-related Macular Degeneration or AMD) แต่โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมอาจพบได้ในผู้มีอายุน้อยซึ่งมักพบในผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อม มี 2 ชนิด

1. โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) พบประมาณร้อยละ 90 เป็นโรคที่ทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆโรคกลุ่มนี้จอตาจะบางลงบริเวณศูนย์กลางจอตาเสื่อม (Macula) ทำให้มีความสามารถในการมองเห็นลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ บางรายอาจมีการพัฒนา ไปเป็นโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD)

2. โรคศูนย์กลางจอเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณร้อยละ 11-15 โรคกลุ่มนี้มีการสูญเสียการมองเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของตาบอดในโรคกลุ่มนี้ซึ่งสาเหตุการตาบอดเกิดจากการมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอตา และผนังชั้นที่มีเม็ดสี (RPE) ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะปราะและแตกง่ายมีการรั่วซึมของเลือด และสารเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดแผลเป็นและจอตาบวมผู้ป่วยเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วและเฉียบพลัน

สาเหตุ
  • 1. อายุ พบบ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • 2. พันธุกรรม พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นมาก่อน
  • 3. เชื้อชาติ / เพศ อุบัติการณ์ของโรคสูงในคนผิวขาวและเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • 4. บุหรี่ มีหลักฐานพบว่าการสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติครอบครัวร่วมด้วย จะมีโอกาสเพิ่มถึง 30 เท่า
  • 5. อาหาร มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวจากภาวะไขมันและความดันสูงมาเป็นเวลานาน
อาการ
  • 1. ภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาด
  • 2. มองภาพหรืออ่านหนังสือ ที่ต้องใช้งานละเอียดยากกว่าปกติ
  • 3. มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ
  • 4. การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มขึ้น มองเห็นลดลงไม่ตรงกลางเส้น การมองเห็นสีลดลง
ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค
  • 1. เข้ารับการตรวจตาและจอประสาทตา
  • 2. งดการสูบบุหรี่
  • 3. ควบคุมน้ำหนักตัวและออกกำลังกาย
  • 4. กินสารต้านอนุมูลอิสระและธาตุสังกะสี
  • 5. ป้องกันดวงตาจากแสงแดด
  • 6. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
การรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี
  • 1. การรักษาด้วยการฉีด Ani VEGF เข้าไปในน้ำวุ้นตาเป็นการรักษาโดยใช้นวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยา (Biological product) ที่ใช้กับตาโดยเฉพาะ วิธีนี้เป็นการรักษาแนวใหม่และยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น
  • 2. การรักษาด้วยวิธีโฟโต้ไดนามิก (Photodynamic Therapy PDT) เป็นการรักษาโดยใช้ยา Verteporfin ร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน โดยยาจะทำให้หลอดเลือดผิดปกติเกิดการอุดตัน พบว่าวิธีนี้เป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยบางครั้งเรียกวิธีเลเซอร์เย็น
การป้องกันการเกิดโรค
  • 1. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงหรือรังสี อัลตราไวโอเลตเป็นระยะเวลานาน
  • 2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • 3. กินอาหารที่มีเบตาแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ปริมาณสูง เช่น แอปเปิ้ล บร็อกโคลี ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง
* ในคนที่อายุ> 50 ปี โดยเฉพาะมีปัจจัยเสี่ยง เช่น  ประวัติครอบครัว , เคยสูบบุหรี่ี , โรคไขมันในเลือดผิดปกติ ให้มาตรวจปีละครั้ง เพราะระยะแรกอาจไม่มีอาการ