โรคต้อหิน

โรคต้อหิน คือ ภาวะความดันลูกตาสูงทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง มักพบในผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี โรคต้อหินอันตรายกว่าโรคต้อกระจก ต้อลม และต้อเนื้อตรงที่ประสาทตาจะเสื่อมไปเรื่อยๆ โดยส่วนที่เสียไปแล้วนั้นไม่สามารถทำการรักษาให้ดีได้เหมือนเดิมถ้าไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดได้

ชนิดของโรคต้อหิน

โรคต้อหินแบ่งได้หลายชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดมี 4 ชนิด คือต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ต้อหินมุมเปิดชนิดเรื้อรังต้อหินแทรกซ้อนและต้อหินในเด็กเล็กและทารก
1. ต้อหินมุมปิด (ANGLE CLOSURE GLAUCOMA)

มีอยู่ 2 ชนิด คือชนิดมุมปิดเฉียบพลันกับชนิดเรื้อรังชนิดมุมปิดเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟอาการอาจรุนแรงมากจนเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการจะไม่หายถึงแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตามถ้าไม่ทำการรักษา ตาจะบอด อย่างรวดเร็วแต่ถ้าเป็นชนิดมุมปิดเรื้อรังผู้ป่วยจะไม่ทราบและไม่มีอาการบางท่านอาจมีอาการ ปวดเล็กน้อยเป็นครั้งคราวเป็นๆหายๆ อยู่หลายปีและได้รับการรักษาแบบโรคปวดศีรษะ โดยไม่ทราบว่าเป็นตาต้อหิน

2. ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง (OPEN ANGLE GLAUCOMA)

ต้อหินชนิดนี้เป็นต้อหินชนิดที่พบบ่อยแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือชนิดความดันตาสูงและความดันตาปกติต้อหินทั้ง 2 ชนิดนี้จะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดงผู้ป่วยจะไม่ทราบอาการสายตาจะค่อยๆมัวลงอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเป็นเดือนหรือเป็นปีหากไม่ได้รับ การวินิจฉัยและรักษาทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดได้ในที่สุดอย่างไรก็ตามหากได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และรวดเร็วก็จะรักษาสายตาไว้ได้

3. ต้อหินแทรกซ้อน (SECONDAEY GLAUCOMA)

ต้อหินชนิดนี้เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น การอักเสบของม่านตาต้อกระจกที่สุกมากอุบัติเหตุต่อดวงตาจากการใช้ยาหยอดตาบางชนิด หรือภายหลังการผ่าตัดตา เช่นเปลี่ยนกระจกตาหรือการผ่าตัดต้อกระจก

4. ต้อหินในเด็กเล็ก และทารก (CONGINITAL AND DEVELOPMENT GLAUCOMA )

ต้อหินในเด็กเล็กเกิดร่วมกับความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของดวงตาอาจมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ต้อหินในทารกจะพบตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่อาจสังเกตว่าลูกน้อยของตนมีขนาดลูกตาใหญ่กว่าเด็กปกติกลัวแสงกระจกตาหรือส่วนของตาดำจะไม่ใสจนถึงขุ่นขาว และมีน้ำตาไหลมากหากพบต้องรีบเข้ารับการรักษา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน

  • 1. อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนอายุน้อยต้อหินบางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิด หรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ
  • 2. ความดันในลูกตา ผู้ที่มีความดันในลูกตาสูงก็จะมีโอกาสเกิดโรคต้อหินสูง
  • 3. ประวัติครอบครัว หากมีสมาชิกภายในครอบครัวหรือบรรพบุรุษเป็นต้อหินก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้น และควรได้รับการตรวจเป็นระยะ
  • 4. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในผู้ที่มีสายตายาวมากๆโดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิด
  • 5. โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินอย่างชัดเจนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีอันตราย และมีโอกาสเป็นโรคต้อหินสูงกว่าคนปกติ
  • 6. โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะผู้ที่เคยช็อก หรือมีอาการหัวใจวายมาก่อน มีโอกาสเป็นต้อหินชนิดที่เรียกว่าต้อหินแบบความดันปกติในภาษาอังกฤษเรียกว่า NORMAL TENSION GLAUCOMA โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา
  • 7. ความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด มีหลักฐานชี้บ่งว่าความดันเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรคต้อหินและโรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส เป็นต้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั้วประสาทตา และทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้

โรคต้อหินรักษาได้อย่างไร

โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะเริ่มต้นด้วยยาหยอดหากจำเป็นก็จะเพิ่มยาเม็ดรับประทานหรือฉีดยาเข้าเส้นเลือด ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยเลเซอร์การผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยต้อหินเป็นสิ่งจำเป็นหากไม่สามารถควบคุมโรคได้ด้วยยาและเลเซอร์ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเพื่อลดความดันภายในลูกตาแบบธรรมดาไม่ได้ผล ก็อาจจำเป็นต้องใช้ท่อสังเคราะห์พิเศษ ซึ่งเชื่อมต่อกับจานหรือที่เก็บกักน้ำใต้เยื่อบุตา

การตรวจโรคต้อหินทำได้อย่างไร

จักษุแพทย์จะทำการตรวจเช็คตาโดยละเอียด รวมทั้งการซักประวัติทางร่างกาย ประวัติทางครอบครัววัดสายตาความดันภายในลูกตา และการตรวจดูขั้วประสาทตา และจอตาการตรวจพิเศษโดยเฉพาะสำหรับโรคต้อหิน เช่น การตรวจขั้วประสาทตาด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจลานสายตาอัตโนมัติ เป็นต้น

หากท่านเป็นโรคต้อหินควรปฏิบัติตัวตามนี้

  • 1. ใช้ยาหยอดและยารับประทาน ตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • 2. ไม่ควรรอจนยาหมดควรให้มียาเผื่อไว้เสมอหากต้องเดินทางไกล และต้องเข้าใจว่ายาหยอดเหล่านี้ช่วยรักษาสายตาของท่านได้
  • 3. ควรพบแพทย์นัดหมายเพราะท่านจำเป็นต้องรับการตรวจเป็นระยะๆ และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนยา หรือต้องมีการทดสอบ หรือการตรวจอย่างอื่น เช่น ลานสายตาอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวโรค
  • 4. การแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวอื่นๆ ของท่าน และควรมีชื่อยาที่ท่านรับประทานอยู่ เพื่อรักษาโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่นๆในขณะเดียวกันท่านควรแจ้งให้แพทย์ประจำตัว (อายุรแพทย์) ของท่านทราบด้วยว่ากำลังรักษาโรคต้อหินอยู่
  • 5. อย่าซื้อยาหยอดตาที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากจักษุแพทย์มาหยอดเอง 
  • 6. เนื่องจากโรคต้อหินมีส่วนเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอยู่แล้ว ควรแนะนำสมาชิกภายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี รับการตรวจจากจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก
  • 7. พยายามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสายตาของท่านและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์ทันที
Health tip
ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคต้อหินได้โดยไม่รู้ตัวและเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การตรวจวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ และการได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจากจักษุแพทย์จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการสูญเสียสายตาจากต้อหินดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้จึงควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งแม้ว่าต้อหินจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็สามารถควบคุมโรคนี้ได้ โดยอาจต้องมีการใช้ยาหยอดตาอย่างต่อเนื่อง