เทคโนโลยีการผ่าตัดก้อนเนื้อในเต้านม

เทคโนโลยีการผ่าตัดก้อนเนื้อในเต้านม

   ก้อนเนื้อในเต้านมเป็นปัญหาที่พบบ่อยสำหรับคนไข้ที่เข้ามาปรึกษาแพทย์เพราะกังวลว่าก้อนนี้จะอันตราย หรือกลายเป็นมะเร็งในอนาคตหรือไม่

   เริ่มต้นจากการตรวจร่างกายโดยแพทย์ และตรวจเต้านมเพิ่มเติมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ จากนั้นจะนำผลมาประเมินว่ามีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน หากผลตรวจน่ากังวลก็จะเจาะชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

การเจาะชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (Core Needle Biopsy)

โดยการใช้อุปกรณ์เจาะตัดชิ้นเนื้อของเต้านมบริเวณที่สงสัย แผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร จะทำการเก็บชิ้นเนื้อประมาณ 4 – 5 ครั้ง ใช้เวลาเพียง 15 – 20 นาที และนำชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยาต่อไป ซึ่งวิธีนี้เป็นเพียงการเจาะตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ จากรอบๆ ก้อนออกมาให้เพียงพอต่อการตรวจ ไม่ได้เป็นการตัดก้อนออกทั้งหมด

หากตรวจพบแล้วว่าไม่ใช่เนื้อร้าย คนไข้ที่ยังคงกังวลใจหรือไม่อยากมีก้อนในเต้านมอีกต่อไป จะมีแนวทางการดูแลรักษาดังนี้
  • 1. ผ่าตัดก้อนเต้านมออกด้วยการเปิดแผลที่ผิวหนัง
  • เป็นวิธีมาตรฐานโดยการผ่าตัดจะมีวิธีผ่าตัดแบบซ่อนแผลในตำแหน่งต่างๆ ของเต้านมเพื่อความสวยงาม ขนาดแผลจะเท่าๆ กับก้อนเนื้อหรือใหญ่กว่าเนื่องจากต้องมีช่องทางเพื่อเข้าไปตัดก้อนและนำก้อนออก
  • 2. การตัดและดูดก้อนเนื้อเต้านมผ่านแผลขนาดเล็ก/ด้วยระบบสูญญากาศ (Vacuum Assisted Excision)   
  • เทคนิคการผ่าตัดก้อนที่เต้านมผ่านเข็ม โดยใช้เครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยระบบสูญญากาศ ข้อดีคือมีแผลที่เต้านมขนาดเล็กเพียง 1 เซ็นติเมตร ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องเสี่ยงจากภาวะดมยาสลบ และได้ผลชิ้นเนื้อของก้อนไปตรวจเหมือนกับการผ่าตัดเปิดแผลที่ผิวหนัง
  • 3. การทำลายก้อนเนื้อเต้านมด้วยความเย็น (Cryoablation)
  • เป็นเทคโนโลยีการจี้เย็นที่มีแผลขนาดเล็กที่เต้านม เป็นการรักษาโดยใช้เข็มนำความเย็น เข้าไปจี้ทำลายก้อนในเต้านมโดยตรงจะทำให้ก้อนเนื้อกลายเป็นน้ำแข็งอย่างรวดเร็วและทำลายก้อนในที่สุด

ทั้ง 3 เทคนิคนี้จะเหมาะสมกับคนไข้แบบไหนขึ้นอยู่กับคนไข้ร่วมกับความรู้และประสบการณ์ของศัลยแพทย์ในการพิจารณาความเหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูล

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง
ศัลยแพทย์เต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านมโรงพยาบาลนนทเวช