นิ่วในท่อน้ำดี

นิ่วในท่อน้ำดีคืออะไร ?
  • - นิ่ว คือก้อนที่เกิดจากการตกตะกอนในระบบอวัยวะต่างๆ ที่มีของเหลวซึ่งอาจเป็นผลจากความเข้มข้นของของเหลวสูงกว่าปกติ ซึ่งนิ่วที่พบบ่อยจะเกิดในสองระบบได้แก่ทางเดินปัสสาวะและทางเดินน้ำดี
  • - ระบบทางเดินน้ำดี : น้ำดีสร้างจากตับ ปล่อยสู่ท่อน้ำดี แล้วเก็บไว้ในถุงน้ำดี โดยถุงน้ำดีจะบีบตัวเพื่อให้น้ำดีออกมาเมื่อรับประทานอาหารซึ่งน้ำดีจะไปทำหน้าที่ในการย่อยไขมัน ซึ่งปลายท่อน้ำดีจะลู่ลงและมีหูรูดก่อนปล่อยสู่ลำไส้
  • - นิ่วในระบบทางเดินน้ำดีจึงสามารถเป็นได้หลายที่ เช่น นิ่วถุงน้ำดี นิ่วท่อถุงน้ำดี และนิ่วในท่อน้ำดี
  • - นิ่วในท่อน้ำดีส่วนใหญ่มักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีตกสู่ท่อน้ำดี
นิ่วในท่อน้ำดี มีอาการอย่างไร ?
  • - นิ่วในท่อน้ำดีที่เกิดการอุดตันของท่อน้ำดีจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ซึ่งมักปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ก็ได้ และอาจปวดเป็นพักๆ หรือปวดต่อเนื่องก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดร้าวไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมเช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • - เมื่อเกิดการอุดตันทางเดินน้ำดี จะเกิดภาวะน้ำดีคั่งค้างทำให้เกิดอาการตัวตาเหลืองได้และปัสสาวะมักจะมีสีเข้มด้วย นอกจากนั้นจะเกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดีได้บ่อย ทำให้มีไข้ขึ้น และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ นิ่วในท่อน้ำดี มีวิธีการวินิจอย่างไร ?
  • - การทำอัลตร้าซาวน์เป็นการตรวจที่ดีสำหรับนิ่วในถุงน้ำดี แต่สำหรับนิ่วในท่อน้ำดีมักตรวจไม่ค่อยเจอ อาจจะพบท่อน้ำดีโตกว่าปกติได้
  • - การตรวจที่มีความไวมากกว่าได้แก่ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ CT scan หรือเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI นอกจากนี้ถ้านิ่วมีขนาดเล็กมากๆ อาจต้องตรวจด้วยการส่องกล้องอัลตร้าซาวน์จากภายในลำไส้
  • - การตรวจเลือดจะช่วยประเมินภาวะแทรกซ้อน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หรือภาวะน้ำดีคั่งค้างได้
นิ่วในท่อน้ำดี มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
  • - การรักษานิ่วในท่อน้ำดีจะทำโดยการนำนิ่วออกโดยการส่องกล้องฉีดสีท่อน้ำดี หรือเรียกว่า ERCP; Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography ทำโดยการส่องกล้องเข้าทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ไปสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นตำแหน่งของรูเปิดท่อน้ำดี แพทย์จะใช้อุปกรณ์ฉีดสีเข้าสู่ท่อน้ำดีเพื่อประเมินขนาดของท่อน้ำดีและนิ่ว หลังจากนั้นจะตัดขยายหูรูดปลายท่อน้ำดีให้กว้างขึ้น ทำให้สามารถใส่อุปกรณ์เพื่อลากนิ่วออกมาจากท่อน้ำดีสู่ลำไส้เล็กได้ นอกจากนี้กรณีที่นิ่วขนาดใหญ่มากอาจใส่ท่อระบายไว้ก่อนเพื่อแก้ไขการอุดตันหรืออาจใช้เครื่องมืออื่นๆ สลายนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้ ซึ่งวิธีเหล่านี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามบางรายที่ไม่สามารถสลายนิ่วได้หรือมีกายวิภาคของช่องท้องไม่ปกติก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นเช่นการผ่าตัด
  • - ผู้ที่ภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วคือมีการติดเชื้อท่อน้ำดีแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดร่วมด้วย
  • - ในกรณีที่มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย หลังจากการนำนิ่วในท่อน้ำดีออก ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกร่วมด้วย ซึ่งอาจทำหลังจากการทำ ERCP หรือทำต่อเนื่องจากการทำ ERCP เลยขึ้นกับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

 

ขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์กาจพงศ์ เตชธุวานันท์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ