สัญญาณเตือน “มะเร็งเต้านม” ระยะแรกเป็นอย่างไร?

สัญญาณเตือน “มะเร็งเต้านม” ระยะแรกเป็นอย่างไร?

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยและที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกมากเป็นอันดับ 1 ถือเป็นภัยเงียบภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามเพราะในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการและไม่มีสัญญาณเตือน

การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยในปัจจุบันผู้หญิงยุคใหม่มีความตื่นตัวและใส่ใจในการตรวจสุขภาพมากขึ้น ทำให้เราสามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ ได้เร็วขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และยังเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

อาการของมะเร็งเต้านมในระยะแรก

มะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายมักแฝงตัวมาแบบเงียบ ๆ เพราะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาในระยะเริ่มแรก

จนกระทั่งพบก้อนเนื้อที่เริ่มใหญ่และคลำเจอง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงจะรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ หรือได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์

  เช็คอาการ สัญญาณเตือนที่สังเกตได้ด้วยตนเอง
  • 1. คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้
  • 2. ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป บางทีพบว่าขนาดเต้านมบางข้างมีการเปลี่ยนแปลง คือ ไซส์เปลี่ยนไป 1 คัพ
  • 3. มีผื่น หรือผิวหนังหนาขึ้นคล้ายเปลือกส้ม
  • 4. มีรอยบุ๋มที่เต้านมหรือบริเวณหัวนมคล้ายลักยิ้ม
  • 5. มีน้ำหรือของเหลวไหลออกจากหัวนม หรือบางรายอาจเป็นเลือด
  • 6. มีแผลที่บริเวณหัวนมแล้วรักษาไม่หาย
  • 7. มีอาการเจ็บเต้านมผิดปกติที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
 
  • ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
  •  ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  •  มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
  •  มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
  •  รับประทานฮอร์โมนนานเพศหญิงติดต่อกันมากกว่า 5 ปี หรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  •  มีบุตรหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร

​ลดเสี่ยง เลี่ยง “มะเร็งเต้านม” ได้

เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น ลดการได้รับยาทดแทนฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดบางชนิด และหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นให้ได้เร็ว

มะเร็งเต้านมป้องกันได้

การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือการตรวจพบเจอให้เร็วที่สุด 90% ของผู้หญิงตรวจพบก้อนเนื้องอกในเต้านมครั้งแรกด้วยตนเอง ดังนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็น และควรทำเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป


  • Health’s Tip
  •  
    •  ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดประจำเดือนได้ 7-10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มตรวจได้ง่าย
    •  ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้นและนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที
       

อ้างอิง :

บทความ เรื่อง การรักษา “มะเร็งเต้านม”
https://www.nonthavej.co.th/Breast-Cancer-Treatment.php

บทความ เรื่อง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self-examination)
https://www.nonthavej.co.th/Breast-self-examination.php

ทความ เรื่อง ผลการตรวจแมมโมแกรม บอกได้ว่าเสี่ยง “มะเร็งเต้านม” ในระดับไหน
https://www.nonthavej.co.th/Breast-Cancer.php

บทความ เรื่อง มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รีบรักษา หายขาดได้
https://www.nonthavej.co.th/Breast-cancer-2.php

นพ.ชนินทร์ อภิวาณิชย์
ศัลยแพทย์เฉพาะทางมะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลนนทเวช

บทความ เรื่อง เช็ค 7 สัญญาณเตือน! เสี่ยงมะเร็งเต้านม
https://www.nonthavej.co.th/obvious-signs-breast-cancer.php

พญ.กรวรรณ จันทรจำนง
ศัลยแพทย์เต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลนนทเวช