โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาหายไหม ?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาหายไหม ?

จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า “กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด”  คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน (ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข)

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

1.เจ็บแน่นหน้าอก จะเป็นแบบ แน่นๆ หนักๆ เหมือนมีอะไรมากดทับ&รัด บริเวณทรวงอกด้านหน้า อาจมีร้าวไป กราม  คอ  ไหล่  ต้นแขนซ้ายได้  เป็นได้ทั้งตอนอยู่เฉยๆ  หรือออกกำลังกาย หรือมีภาวะตึงเครียด  อาจมีเหงื่อแตกร่วมด้วย  ส่วนอาการเจ็บหน้าอกแบบ จี๊ดๆ แปล๊บๆ  เหมือนเข็มแทง  หายใจเจ็บ หายใจไม่ออก มักเป็นจากสาเหตุอื่น

2.เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เทียบกับคนปกติหรือสิ่งที่ตัวเองเคยทำเป็นประจำ ซึ่งไม่เคยเหนื่อย เช่น เคยเดินขึ้นสะพานลอยได้ กลายเป็นเดินขึ้นไม่ไหว ต้องพักก่อน

3.วูบ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เป็นอาการแสดงสำคัญที่ต้องลำดับต่อว่า เป็นโรคหัวใจหรือโรคทางสมอง หรืออื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  •  อายุที่มากขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  •  เพศ โดยเพศชายจะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าเพศหญิง
  •  การสูบบุหรี่ ความเครียด
  •  การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  •  ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักมากหรืออ้วน
 การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ
  • 1.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้น ด้วยการตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจบีบตัว โดยคลื่นไฟฟ้าจะช่วยบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • 2.การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiography) ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นสียงความถี่สูงซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ ช่วยในการวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง และติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กกำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ
  • 3.การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้จะช่วยบอกได้ว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ โดยทดสอบเดินบนเครื่องออกกำลังกายให้หัวใจทำงานเต็มที่ และดูการเปลี่ยนแปลงของกราฟหัวใจเมื่อมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ  ซึ่งเป็นผลจากภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบนั่นเอง
  • 4.การบันทึกคลื่นหัวใจ 24 ชั่วโมง รวมถึงการเฝ้าระวังความผิดปกติ (Holter Monitering ECG) เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ไว้กับตัวท่านสามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือทำงานได้ตามปกติ เพื่อตรวจดูลักษณะของคลื่นหัวใจในขณะผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือคลื่นหัวใจที่ผิดปกติแม้จะไมมีอาการภายในช่วงเวลา 24-48 ชั่วโมง โดยอาการตรวจนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำแต่บางครั้งขณะมาพบแพทย์อาการดังกล่าวไม่ปรากฏ
  • 5. การศึกษาคลื่นไฟฟ้าภายในหัวใจ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • 6.การวินิจฉัยโดยการสวนหัวใจ
    •  การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (การสวนหัวใจ)
    •  การฉีดสีดูหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง
    •  ​การฉีดสีดูหลอดเลือดเลี้ยงแขนขา
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีวิธีการอย่างไร ? 
  • 1.การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
  • 2.ใช้ยา เพื่อควบคุมโรคหัวใจหรือปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ
  • 3.การรักษาด้วยหัตถการหลอดเลือดหรือการผ่าตัด ได้แก่
    •  การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
    •  การขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบด้วยบอลลูน
    •  ​การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ
 FAQs
หลอดเลือดหัวใจตีบน่ากลัวไหม ?                                                                                    

มีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ไม่มีอาการใดๆ เลย แต่ตรวจพบตอนมาตรวจสุขภาพ หรือบางรายไปออกกำลังกาย อยู่ๆ ก็วูบหมดสติไป ถึงได้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจ เพราะฉะนั้น อย่าชะล่าใจว่าสบายดี  ไม่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสไม่แสดงอาการมากกว่าคนปกติ (เพราะเส้นประสาทรับรู้เสียไป / เสื่อมลง ทำให้ความรู้สึกเจ็บน้อยลง หรือชาไม่เจ็บเลย)

จะทราบได้อย่างไรว่า...มีเรามีความเสี่ยงโรคหัวใจในอนาคต ?

CT Calcium Score เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตรวจคัดกรองระดับหินปูนที่เกาะบริเวณหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการอุดตันของหลอดเลือด ก่อนที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือประเมินแนวโน้มโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต สามารถตรวจได้ทันที  ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บ ไม่ต้องฉีดสารทึบแสง

อ้างอิง

บทความ เรื่อง โรคหัวใจขาดเลือดภัยเงียบใกล้ตัว
https://www.nonthavej.co.th/heart-attack-early-diagnosis.php
นพ.เรย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน
อายุรแพทย์โรคหัวใจ

แนะนำบริการศูนย์หัวใจ
https://www.nonthavej.co.th/heart-center-section1.php