อยากซื้อประกันสุขภาพเด็กเล็ก เลือกแบบไหนดี?

อยากซื้อประกันสุขภาพเด็กเล็ก เลือกแบบไหนดี?

   สวัสดีครับ ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถาม จากเพื่อนๆรอบตัวผมหลายคนที่มีลูกเกี่ยวกับปัญหาการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้กับบุตรหลาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะ
ได้เห็นตามโซเชียลต่างๆ ถึงเรื่องการเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพเด็กโดยอัตราเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมานั้นเรียกว่าสูงเท่าตัวเลยทีเดียว หรือบ้างก็โดนปฏิเสธการรับต่อประกัน ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ ท่านต้องมองหาประกันตัวใหม่มาแทนที่ของเดิมที่เคยทำไว้ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ ท่าน วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผน การเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment AdvisorySecurity Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาสรุปภาวะสถานการณ์ตลาดประกันสุขภาพเด็ก ณ ปัจจุบันให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

จากที่ผมได้ลองค้นแบบประกันและลองทำเปรียบเทียบดู ก็พอจะสรุปรูปแบบของประกันสุขภาพเหมาจ่ายเด็กเล็ก (ช่วงอายุ 0-6 ปี) ออกแบบแบบประกันเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ครับ นั่นคือ

   กลุ่มแรก เบี้ยแพง แต่ทุนสูง จ่ายแล้วจบ ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม กลุ่มนี้จะเป็นประเภทที่ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไร คือจ่ายแล้วจบ หากเจ็บป่วยก็สามารถเคลมได้ ไม่ต้องร่วมจ่าย ไม่ต้องมีผู้ปกครอง ร่วมสมัครด้วยข้อดีคือ ทำให้ค่ารักษาไม่บานปลาย คุมค่าใช้จ่ายได้ จ่ายแค่ค่าเบี้ยเท่านั้นกลุ่มนี้ จะมีค่าเบี้ยอยู่ประมาณ 50,000-70,000 บาทต่อปี

   กลุ่มที่สอง เหมา จ่าย ความคุ้มครองสูง แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยประกันแบบนี้จะมีเบี้ยประกันที่ถูกกว่าแบบแรกแต่จะมีกำหนด เงื่อนไขเพิ่มเติมเช่น ต้องทำร่วมกับผู้ปกครอง และ/หรือ ต้องร่วมจ่าย ค่ารักษาพยาบาลด้วย 20%-35% ของค่ารักษาพยาบาลต่อการเข้ารักษาต่อครั้ง ข้อดีของประกันกลุ่มนี้คือ มีเบี้ยประกันที่ถูกกว่าแบบแรก แต่หากผู้เอาประกันมีการเคลมบ่อย ก็อาจจะทำให้รวมๆแล้วนั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าประกันกลุ่มแรก ประกันกลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้เอาประกันที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว โดยสวัสดิการ ที่มีอยู่แล้วจะมาช่วยในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่ต้องร่วมออก 20%-35% นั่นเอง

   กลุ่มที่สาม เหมาจ่าย ความคุ้มครองน้อย ประกันสุขภาพกลุ่มนี้นั้นจะมีเบี้ยที่ถูกกว่ากลุ่มแรกแต่จะมีการกำหนดทุนประกันในส่วนของค่าห้องและ ค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ เวลาเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้นผู้เอาประกัน อาจจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินยอดความคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์ ด้วยครับ เช่น กรมธรรม์อาจจะมีความคุ้มครองค่าห้องอยู่ที่ 2,000 บาท ต่อวัน ซึ่งหากเป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คิดค่าห้องอยู่ที่ 4,000 บาทต่อวันนั้นผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างอยู่ที่ 2,000 บาทนั้น เองครับประกันกลุ่มนี้จะเหมาะกับผู้ปกครองที่มีสถานพยาบาลประจำ ของบุตรที่ไม่แพงมากนัก เช่น โรงพยาบาลของรัฐเป็นต้น

จาก 3 กลุ่มที่กล่าวมานั้น ผมขอสรุปวิธีการตัดสินใจในการเลือกแบบประกันสุขภาพสำหรับเด็กเล็กเป็นแบบนี้ครับ

   อย่างแรกก็คือให้ลองคิดดูว่า หากลูกของเราเกิดเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลเราจะพาเขาไปโรงพยาบาลไหน มีค่าห้องประมาณเท่าไรค่ารักษาอยู่ที่ประมาณเท่าไร (อาจจะใช้จากประวัติการรักษาที่ผ่านมาก็ได้ครับ) แล้วมาลองคิดดูว่าถ้าเราถือประกันแบบกลุ่ม ที่ 2 และ 3 อยู่เราจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกเท่าไร โดยอิงความถี่ในการเข้ารักษาจากประวัติในอดีตก็ได้ครับ หากรวมๆแล้วนั้น แบบที่ 2 และ 3 ยังถูกกว่า แบบแรกก็เลือกแบบที่ 2 หรือ 3 ตามที่เหมาะสมได้เลยครับ ส่วนตัวผมนั้นใช้การรักษาโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก และ ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลในส่วนของบุตรก็จะเลือกประกันกลุ่มแรกครับ เพราะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ งบไม่บานปลาย และหากลูกเกิดเจ็บป่วยก็ไม่ต้องคิดว่าจะกระทบต่อการเงินครอบครัวไหมนะครับ เรียกว่ายอมจ่ายแล้วจบดีกว่า

   ส่วนท่านที่อยากได้ประกันแบบกลุ่มที่ 1 แต่ราคาถูกลงมาหน่อยก็ขอบอกว่า หมดยุคประกันราคาถูกแล้วครับในปัจจุบันนี้ประกันสุขภาพเด็กเล็ก แบบเหมาจ่าย โดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม เหลืออยู่แค่ไม่กี่เจ้า เจ้าที่เคยถูก ก็ปรับเบี้ยขึ้นหรือ ทําให้เบี้ยไม่ได้ต่างกันมากนักครับตัวเลือกมีไม่มากนัก เวลาพิจารณา ก็ขอให้ดูจากความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทประกัน และความคิดเห็นของลูกค้าปัจจุบันของประกันเจ้านั้นดูนะครับ หรือจะลองขอคําปรึกษาจากนักวางแผนการเงินอีกทางหนึ่งก็ได้เช่นกันครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ Wealth Creation
เพียรไกร อัศวโภคา
Chief Executive Officer
Weath Creation International Co,.Ltd.