ลดเสี่ยง...เลี่ยง “ฝีดาษวานร”

ลดเสี่ยง...เลี่ยง “ฝีดาษวานร”

   จากสถานการณ์ระบาด “โรคฝีดาษวานร” มากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยสะสม 98 ราย เพิ่มขึ้น 48 รายหรือ 2.3 เท่า (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2566) พบมากในกลุ่มชายรักชาย ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าและไม่ป้องกัน ทำให้หลายคนสงสัยและกังวลว่าโรคนี้คืออะไร และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เรามาทำความรู้จักโรคฝีดาษวานรกัน

โรคฝีดาษวานร (Monkeypox)

   ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae อาการคล้ายกับไข้ทรพิษแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิงเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู  โดยแบ่งเป็น  2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และสายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงของโรค ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่า โดยในขณะนี้ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในไทยยังเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อย โอกาสเสียชีวิตจะน้อยกว่า พบการติดเชื้อมากที่สุดในกลุ่มชายรักชาย

การติดต่อ
  •  ติดจากสัตว์สู่คน  เลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดและข่วน กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ
  •  ส่วนใหญ่ติดจากคนสู่คน โดยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง สัมผัสแผลหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโดยตรง เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าและไม่ป้องกัน พบมากในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้อีกด้วย
 ฝีดาษวานร...สังเกตอย่างไร?

เราสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

อาการระยะแรก
  • มีไข้ 38°C ขึ้นไป ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลียมาก และต่อมน้ำเหลืองโต
 อาการระยะออกผื่น
  • หลังจากมีไข้ ผื่นหรือตุ่มมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้า แขนขามากกว่าบริเวณลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก ช่วงหลังจะพบตุ่มผื่นตามอวัยวะเพศและทวารหนักมากขึ้นช
ถ้ามีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยว่าเป็นฝีดาษวานร ให้สังเกตตัวเองหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบเข้ารับการตรวจ โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที
ใครเสี่ยง? อาการรุนแรงเมื่อตืดเชื้อฝีดาษวานร

กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อฝีดาษวานรแล้วมีความเสี่ยงสูง มีผลทำให้เกิดการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้

  •  กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV  
  •  ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ผู้
  •  ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
  •  เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี
  •  หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร
รู้หรือไม่?
ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงส่วนใหญ่จะหายเองได้ใน 2 – 4 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้

ฝีดาษวานร...ป้องกันได้
  •  หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก แม้จะสวมถุงยางอนามัยก็สามารถติดเชื้อจากการสัมผัสตุ่มหนองได้
  •  หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังที่มีตุ่ม ผื่น หนอง ของผู้อื่น
  •  หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้อื่น เช่น น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ
  •  หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอลล์
  •  ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นและผู้ป่วย
  •  หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง
  •  หากสงสัยว่าป่วย ควรพบแพทย์ทันที
  •  ​ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร ควรแยกตนเองเพื่อไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

   การติดตามสถานการณ์ของโรคฝีดาษวานรเพื่อระวังและลดความเสียงเป็นการป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ควรตื่นตระหนกเพราะโรคนี้มีความรุนแรงต่ำ และแพร่กระจายยากกว่าโควิด-19 อาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ใน 2 – 4 สัปดาห์ ป้องกันได้ด้วยการหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรเพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากมีอาการเข้าข่าย ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรคหรือตุ่มต่างๆ เพื่อป้องกันการติดต่อถึงผู้อื่น ควรรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรและรักษาทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค