6 อาการสัญญาณร่วมเฉียบพลัน

6 อาการสัญญาณร่วมเฉียบพลัน

คำบอกเล่าของคุณไพโรจน์ เรืองศิลป์ชัย

     วันนั้นผมใช้เวลาเดินทางกว่า 9 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เพื่อไประนองด้วยบริการรถขนส่งปรับอากาศ      ถึงระนองเวลาประมาณ 6.00 น. พอลงจากรถผมมีอาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรงขึ้นมาทันที เวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จึงพยายามหาที่ยึดเพื่อทรงตัวและประคองตัวเองไปนั่งพักภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร ลูกชายที่เดินทางมารับจึงรีบเรียกรถพยาบาลเพื่อนำผมไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด  ผลจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan Brain) พบว่าผมมีหลอดเลือดสมองตีบ ทางครอบครัวจึงตัดสินใจขอย้ายผมกลับมารักษาที่โรงพยาบาลนนทเวชทันทีเนื่องจากผมและครอบครัวมีประวัติการรักษาอยู่ที่นี่ และที่สำคัญที่สุดคืออาการของผมในตอนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากต้องนอนรอเวลาเพื่อสังเกตอาการอาจสายเกินไป

     20.00 น. ผมเดินทางมาถึงโรงพยาบาลนนทเวช  แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรงมากจนเหมือนจะหมดแรง ผมถูกส่งเข้าเครื่อง MRI  ทันทีเพื่อตรวจและค้นหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง แต่ภาพที่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าหลอดเลือดสมองปกติ คุณหมอศูนย์สมองและระบบประสาทเจ้าของไข้จึงค้นหาสาเหตุอื่นๆที่เป็นไปได้  เนื่องด้วยตัวผมออกกำลังกายสม่ำเสมอ ความเสี่ยงค่อนข้างน้อย หลอดเลือดสมองไม่มีความความผิดปกติ  คุณหมอสิริชัยเจ้าของไข้จึงส่งผมต่อไปยังศูนย์หัวใจเพื่อให้คุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญด้านหัวใจโดยเฉพาะช่วยค้นหาสาเหตุ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากหัวใจที่มีความผิดปกติ

     ผลจากตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงโดยการใช้หัวตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ  คุณหมอจึงเปลี่ยนวิธีการตรวจเป็นการสอดเครื่องมือเข้าไปในหลอดอาหาร เพราะการตรวจวิธีนี้จะให้ภาพชัดกว่าการตรวจทางหน้าอก เนื่องจากเครื่องมืออยู่ใกล้หัวใจและไม่มีอวัยวะใดๆมาบัง แต่ก็ยังไม่พบความผิดปกติอีกเช่นกัน   คุณหมอจึงใช้วิธีการปล่อยฟองอากาศเข้าไปในหลอดเลือดดำ เพื่อดูว่าฟองอากาศมีการเล็ดลอดจากหัวใจห้องบนขวาไปยังห้องบนซ้ายหรือไม่  ด้วยวิธีการนี้จึงทำให้ผมรู้ว่าหัวใจของผมมีรูรั่วเล็กๆบนผนังหัวใจระหว่างห้องซ้ายและขวา เนื่องจากพบว่าฟองอากาศทะลุเข้าไปหัวใจอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งลักษณะแบบนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นมักพบเพียง 10%  ซึ่งผมก็คือ 1 ใน 10%  นั้น โดยคุณหมอศูนย์หัวใจอธิบายให้ผมฟังอย่างละเอียดว่า ระบบการไหลเวียนโลหิตที่ปกตินั้น หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปเลี้ยงร่างกาย โดยหัวใจซีกขวารับโลหิตที่ใช้แล้วจากร่างกายสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน  โลหิตที่มีออกซิเจนก็จะกลับไปยังหัวใจด้านซ้ายและสูบฉีดผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปยังทุกส่วนของร่างกายไหลเวียนไปเช่นนี้  แต่ในกรณีของผมนั้นจากการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ กว่า 9 ชั่วโมงจากกรุงเทพถึงระนอง  ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา และลิ่มเลือดนั้นหลุดเข้ามาที่หัวใจฝั่งขวาและข้ามรูรั่วเล็กๆบนผนังหัวใจมายังฝั่งซ้ายขึ้นมาที่ศีรษะ ผมจึงมีอาการชาซีกซ้าย แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน  โดยคุณหมอชี้แจงว่าผมอาจมีอาการชา แขนขาอ่อนแรง เวียนศีรษะ เกิดขึ้นได้ซ้ำๆอีก หากมีลิ่มเลือดที่เกิดจากการนั่งนานหลุดผ่านรูรั่วดังกล่าวขึ้นไปที่ศีรษะ แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการปิดรูรั่วนั้น

     จากคำแนะนำของคุณหมอที่อธิบายพร้อมมีภาพประกอบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหัวใจของผมมีรูรั่วตรงไหน  ลิ่มเลือดจากที่ขาลอยและหลุดขึ้นมาที่ศีรษะได้อย่างไรและ จะรักษาด้วยวีธีการใด ทำให้เข้าใจได้โดยง่ายประกอบกับกำลังใจจากลูกๆ ผมจึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยการใส่เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายร่มไปกางปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจโดยไม่มีความกังวลใดๆ  หลังการรักษาผมพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1 เดือน เพื่อทำกายภาพบำบัด หลังจากนั้นจึงกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งคุณหมอทั้ง 2 ท่านนัดติดตามผลการรักษาเป็นระยะและนัดกลับมาทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้สุขภาพร่างกายผมปกติดี  ไม่มีอาการชาและเวียนศีรษะ สามารถเดินได้ตามปกติ

     ผมโชคดีครับที่ได้เจอกับคุณหมอทีมนี้ซึ่งเป็นคุณหมอรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในตัวเรา อธิบายให้เราเข้าใจง่ายๆ ถึงสาเหตุและวิธีการรักษาอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น  สงสัยอะไรก็สอบถามได้ ทำให้เราไม่กลัวหรือกังวลที่จะเข้ารับการรักษา รวมทั้งยังมีการส่งต่อการรักษาในโรคที่เกี่ยวข้องกันทำให้เราได้รับการรักษาที่ตรงจุด ครอบคลุมในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือในสิ่งที่เราเป็นกังวลครับ

     ผู้ป่วยรายนี้มาด้วยอาการแขนขาซ้ายอ่อนแรงเฉียบพลัน เวียนศีรษะ บ้านหมุน ชาซีกซ้าย คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จากการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography : MRA Brain) พบว่าหลอดเลือดสมองปกติ  เราจึงค้นหาสาเหตุอื่นๆที่เป็นไปได้ โดยส่งเคสต่อให้แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจช่วยค้นหาสาเหตุของความผิดปกติ  ซึ่งการพบรูรั่วที่ผนังหัวใจช่วยอธิบายถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ โดยแพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจช่วยดูแลในเรื่องของหัวใจที่มีปัญหาโดยการปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจ เพิ่อป้องกันการเกิดซ้ำของภาวะสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือดเล็กๆอุดตัน  ระหว่างนั้นเราก็ให้การรักษาเรื่องหลอดเลือดสมองตีบควบคู่กันไป แต่เนื่องจากอาการที่ผู้ป่วยรายนี้มีมาเลยช่วง Golden Period หรือ 4.5 ชั่วโมงมาแล้ว จึงไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เราจึงให้ยาต้านเกร็ดเลือดกลุ่มแอสไพรินเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต  ทั้งนี้การได้รับการกายภาพอย่างเหมาะสม ต่อเนื่อง  และมีทีมแพทย์ที่ดูแลอย่างครบถ้วนทั้งด้านสมองและหัวใจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้นและฟื้นตัวได้เร็ว

 

     เคสนี้ค่อนข้างซับซ้อน เราเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่าโรคหลอดเลือดสมองที่ไมทราบสาเหตุ (Cryptogenic Stroke) คือ หลอดเลือดสมองปกติ  ไม่พบภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวและไม่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่มีอาการนำมาด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จากการตรวจหัวใจผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiogram :TEE) และฉีดฟองอากาศ (Micro Bubble) ผ่านเข้าเส้นเลือดดำ จึงพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีสภาวะผนังของหัวใจระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องบนขวามีรูรั่วขนาดเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Patent Foramen Ovale : PFO  ซึ่งรูนี้จะปิดสนิทตามธรรมชาติเมื่อคลอดออกมา แต่ทั้งนี้ก็มีคนจำนวนหนึ่ง (ประมาณ1ใน10คน)  ที่พบว่ารูนี้ไม่ปิดสนิทเช่นเดียวกับในเคสนี้  เราจึงทำการปิดรูรั่วโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยวิธีการสอดสายสวนที่ติดอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายร่ม (PFO Occluder)   สวนเข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบ สอดไปจนถึงห้องหัวใจด้านขวา ผ่านไปยังด้านซ้ายของหัวใจไปยังตำแหน่งที่มีรูรั่วเพื่อกางร่มที่ปลายสายสวนอุดรูรั่ว PFO ให้ปิดสนิท เพื่อเป็นป้องกันการเกิดซ้ำของภาวะสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือดเล็กๆ อุดตัน เพราะการอุดรูรั่วดังกล่าวจะทำให้โลหิตถูกส่งไปกรองที่ปอดทั้งหมดและไม่เกิดปัญหาเมื่อเดินทางไปถึงสมอง  โดยทีมแพทย์ใช้เวลาในการปิดรูรั่วประมาณครึ่งชั่วโมง ผลที่ได้จากการรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หลังการรักษาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ