โรคเวียนศีรษะเฉียบพลัน

โรคเวียนศีรษะเฉียบพลัน

โรคเวียนศีรษะเฉียบพลัน  คือ เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน หรือโคลงเคลง หรืออาจรู้สึกเซ อาจเดินเอียงไปด้านข้างหรือคล้ายจะหัวคะมำมาด้านหน้า หรือจะล้มไปด้านหลังเกิดได้หลายสาเหตุ
  • 1. เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบเฉียบพลัน  พบบ่อยที่สุด
  • 2. ผงหินปูนในหูชั้นในหลุด 
  • 3. น้ำในหูไม่เท่ากัน
  • 4. โรคทางสมองส่วนกลาง

1.โรคเวียนศีรษะจากเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Acute vestibular neuritis) 

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คาดว่าเกิดจากปลายเส้นประสาทอักเสบจากเชื้อไวรัสซึ่งเข้าสู่ร่างกายทางจมูกเข้าเส้นเลือด และไปที่เส้นประสาทการทรงตัวในหูขั้นใน เนื่องจากพบผู้ป่วยเวียนศีรษะเฉียบพลันจำนวนมากในช่วงเวลาใกล้ๆกัน พบได้ทุกกลุ่มอายุแต่พบน้อยในเด็ก และในบางรายจะพบหูดับเฉียบพลันร่วมด้วยซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่แปดที่อยู่คู่ติดกัน เลี้ยงด้วยเส้นเลือดเส้นเดียวกัน

หูชั้นใน มีส่วนสำคัญ 2 ส่วน
1. อวัยวะรูปก้นหอย เป็นส่วนรับฟังเสียง
2. อวัยวะรูปห่วง 3 ห่วง เป็นส่วนรับการทรงตัว

   ข้างในห่วง 3 ห่วง จะมีน้ำที่เรียกว่าน้ำในหูซึ่งจะไหลเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ และเกิดสัญญาณประสาทวิ่งไปตามเส้นประสาทการทรงตัวไปยังสมองทั้ง 2 ข้างพร้อมกันทำให้ร่างกายสามารถรับรู้การทรงตัว และเคลื่อนไหวร่างกายตามปกติแต่เมื่อเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบจะบวมการส่งผ่านสัญญาณประสาทข้างนั้นจะช้าลง ทำให้สัญญาณการทรงตัวจากหูอีกข้างไปถึงก่อนเกิดการไม่สมดุลของการทรงตัวทำให้มีการเวียนหัวโคลงเคลง และถ้าขยับศีรษะเร็วความแตกต่างของสัญญาณการทรงตัวของหู 2 ข้างต่างกันมากขึ้นจะรู้สึกบ้านหมุนด้วยถ้าหยุดการเคลื่อนไหวศีรษะ หัวนิ่ง น้ำในหูหยุดเคลื่อนไหวข้อมูลการทรงตัวที่สมองน้อย สักพักไม่เกิน 1 นาที ก็จะหมดไปทำให้หายเวียนหัว ขยับศีรษะใหม่ จะเวียนศีรษะขึ้นอีก

   แต่ถ้าเมื่อรู้สึกเวียนหัวแล้วยังขยับศีรษะต่อไปอีก ไม่หยุดนิ่งการกระตุ้นมากๆ จะกระตุ้นศูนย์อาเจียนในสมองระยะแรกผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกคลื่นไส้ถ้าหยุดการเคลื่อนไหวศีรษะตอนนี้ก็จะไม่อาเจียนเมื่อถ้าขยับศีรษะต่อเนื่องไม่หยุด จนกระตุ้นศูนย์อาเจียนได้แล้วผู้ป่วยจะเวียนหัวมากจะอยากอาเจียนเมื่อขยับศีรษะ แม้จะขยับแต่เพียงเล็กน้อยผู้ป่วยมักจะหลับตาตลอดเวลาเพราะเมื่อลืมตาจะเห็นบ้านหมุนจะอยากอาเจียนต้องนอนนิ่งๆ ไม่ขยับหัวเลย 2 ชั่วโมงการกระตุ้นที่ศูนย์อาเจียนจึงจะหมดไปดังนั้นเมื่อเวียนหัวต้องหัวนิ่งเมื่อหายเวียนหัวจึงค่อยขยับหัวช้าๆจะสามารถไปไหนๆ ได้อาจรู้สึกโคลงเคลงเล็กน้อย แต่จะไม่กระตุ้นศูนย์อาเจียน

   เมื่อเราเดินหรือนั่งรถ น้ำในหูชั้นในจะกระเพื่อมร่างกายจะปรับมาใช้การทรงตัวทางการมองเห็นทางตา โดยต้องมองไปไกลๆแต่ถ้าผู้ป่วยไปสถานที่คนมากๆมองซ้ายขวา หรือมองพื้นจะรู้สึกเวียนหัวและเดินเซเพราะร่างกายใช้ตาไปทำหน้าที่ในการมองเห็นการทรงตัวเลยต้องกลับไปใช้สัญญาณจากประสาทการทรงตัวที่ไม่สมดุลจึงเกิดอาการเดินเซ และโคลงเคลงได้

   ผู้ป่วยที่เวียนหัวมากห้ามขับรถเพราะถ้าหันศีรษะเพื่อดูรถด้านข้างจะเวียนหัวมากไม่รู้ทิศ ทำให้ควบคุมรถไม่ได้อาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ให้ทดสอบตัวเองโดยหันศีรษะไปด้านขวาและไปด้านซ้ายโดยเร็ว ถ้าไม่เวียนหัว สามารถขับรถได้

การรักษา

   ปกติการบวมของเส้นประสาทจากไวรัสจะค่อยๆหายไปเองใน 3-5 วัน จากภูมิต้านทานของร่างกายอาการเวียนหัวส่วนใหญ่จึงหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาแต่เนื่องจากในเส้นประสาทจะมีเส้นเลือดไปเลี้ยง เมื่อเส้นประสาทบวมจะไปกดเส้นเลือดให้ตีบลงทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ประสาทส่วนปลายลดลงอย่างมากถ้าขาดเลือดนานเซลล์ประสาทการทรงตัวบางส่วนจะตาย แม้ว่าเส้นประสาทจะยุบบวมใน 3-5 วัน แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะยังไม่หายเวียนหัว เพราะสัญญาณการทรงตัวข้างนั้นบางส่วนสูญเสียไปทำให้เกิดการไม่สมดุลของการทรงตัวทุกครั้งที่ขยับหัว จึงยังเวียนหัวไปอีกหลายวัน

   แต่ร่างกายจะมีการปรับสัญญานประสาทที่สมองน้อยเกี่ยวกับการทรงตัวให้เกิดสมดุลขึ้นใหม่ช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆหายขาดจากการเวียนหัวใน 1-3 เดือน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยเวียนหัวมาหาหมอใน 2-3 วันแรก ในตอนที่เส้นประสาทบวม การฉีดยา Steroid เข้าเส้นเลือดเพื่อลดการบวมของเส้นประสาททำให้การนำสัญญาณประสาท 2 ข้างเกิดสมดุลก็จะหายเวียนหัวและยังช่วยไม่ให้เส้นประสาทบวมมากจนกดเส้นเลือดในเส้นประสาทเซลล์ประสาทส่วนใหญ่ก็จะไม่ตาย ทำให้หายเวียนหัวเร็วขึ้นแต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ใน 6-8 ชั่วโมง อาการบวมเส้นประสาทจะกลับมาอีก จะเวียนหัวใหม่ได้อาจต้องฉีดยาซ้ำหรือให้ยากินร่วมด้วย

   อาการเวียนศีรษะถ้าเวียนมากหรืออาเจียนอาจฉีดยากดการเวียนศีรษะ เช่น Dramamine จะลดการเวียนหัวได้แต่จะง่วงมากมียากินลดการเวียนศีรษะยาขยายเส้นเลือดและยาบำรุงเส้นประสาทช่วยได้และที่สำคัญเมื่อไหร่ที่เวียนศีรษะให้หยุดขยับศีรษะไม่ถึงนาทีจะหายเวียนศีรษะเสมอ ถ้าเห็นบ้านหมุนควรหลับตาหัวนิ่งด้วยเวลาเดินหรือนั่งรถ ให้มองไปไกลๆ

2. โรคเวียนศีรษะ จากผงหินปูนในหูชั้นในหลุด  (Benign paroxysmal vertigo) 

   เป็นโรคเวียนศีรษะที่พบบ่อยรองลงมาจากเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการเวียนหัวเมื่อขยับศีรษะในแนวใดแนวหนึ่งมากเป็นพิเศษเพราะมีผงหินปูนหลุดออกจากเยื่อบุแผ่นการทรงตัว (Otolithic membrane) เข้าไปอยู่ในวงแหวนครึ่งวงกลมของการทรงตัว เมื่อขยับศีรษะผงหินปูนจะไหลตามการเคลื่อนไหวของน้ำในหูไปกระตุ้นให้เกิดสัญญาณประสาทมากขึ้นกว่าหูอีกข้าง เกิดการไม่สมดุลของการทรงตัวทำให้เวียนหัวเมื่อเคลื่อนไหวหัวในแนวนั้นๆโดยมากมักเกิดในเมื่อก้ม หรือเงยศีรษะทำให้รู้สึกเหมือนหัวจะทิ่มลงด้านหน้าหรือจะทิ่มไปด้านหลัง หรือเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะล้มตัวลงนอน หรือลุกขึ้นนั่งหรือนอนแล้วหันขวา หรือหันซ้ายแต่มักจะเป็นเวียนหัวมากในแนวใดแนวเดียวอาจเวียนหัวเล็กน้อยในแนวอื่น และมักจะมีปวดศีรษะหนักๆ ตื้อๆ ที่หน้าผาก หัวคิ้ว หรือท้ายทอยร่วมด้วย

สาเหตุ

   โรคนี้มักพบหลังจากมีการอักเสบของเส้นประสาทการทรงตัวมาก่อนหน้านั้นสัก 1-3 เดือนทำให้เซลล์ประสาทขาดเลือดมีผลให้เยื่อบุแผ่นการทางตัวที่มีผงหินปูนอยู่ด้านบนเสื่อมสภาพและเมื่อมีการขยับศีรษะเร็ว เยื่อบุแผ่นการทรงตัวที่มีผงหินปูนติดอยู่ด้านบนจะสะบัดกระเพื่อมอย่างแรงทำให้ผงหินปูนหลุดออกจากแผ่นเยื่อบุการทรงตัว ไปอยู่ในวงแหวนครึ่งวงกลมของการทรงตัวได้

การรักษา

   หมอจะจัดท่าศีรษะเพื่อให้ผงหินปูนที่มีน้ำหนักไหลตามน้ำในหูในทิศทางที่ต้องการ และจัดให้หินปูนหลุดออกจากวงแหวนครึ่งวงกลมของการทรงตัวการจัดท่าขึ้นกับว่าผงหินปูนนั้นหลุดไปอยู่ในครึ่งวงกลมด้านหน้าหรือหลัง หรือด้านข้างของหูขวาหรือซ้ายหลังจัดท่าเสร็จผู้ป่วยจะรู้สึกเวียนหัวน้อยลง อาการปวดหนักตื้อๆที่หัวจะลดลงไปด้วยแต่อาการอาจไม่หายหมดในคราวเดียว เพราะอาจมีผงหินปูนเล็กๆหลงเหลือลอยอยู่อย่างไรก็ตามผงหินปูนนี้เมื่อหลุดออกมาในน้ำจะค่อยๆสลายตัวไปเองช้าๆ ก็หายเวียนหัวได้

3. โรคเวียนศีรษะจากน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's disease)

ผู้ป่วยจะมีอาการ
  • เวียนหัว เมื่อขยับหัว
  • การได้ยินหูข้างนั้นลดลง
  • มีเสียงดัง ในหูข้างนั้น
  • รู้สึกตื้อๆ ในหูข้างนั้น
ต้องมีอาการ 3-4 อย่าง ถึงจะจัดเป็นโรคนี้และจะเป็นเรื้อรังไปเรื่อยๆ และถ้าเป็นบ่อยการได้ยินหูข้างนั้นจะเสื่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆสาเหตุไม่ทราบแน่ชัดแต่พบว่ามีปริมาณน้ำในหูชั้นในข้างนั้นมากกว่าปกติพบไม่บ่อย
 การรักษา

เป็นการรักษาตามอาการอาจให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณน้ำในหูชั้นในลง

4. โรคทางสมองส่วนกลาง

มักจะเวียนศีรษะเกือบตลอดเวลาอาจไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของศีรษะ และมักพบอาการทางสมองส่วนกลางร่วมด้วยเช่นปวดศีรษะแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่งหรือเดินเซการตรวจ MRI ถ้าสงสัยเมื่อมีอาการดังกล่าวอาจช่วยวินิจฉัยโรคทางสมองได้