โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร?

     โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอ สามารถส่งผลเสียต่อมารดาและทารกได้
อาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 
โดยทั่วไปโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถสังเกตอาการได้คล้ายกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงดังนี้ รู้สึกหิวกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
  ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่อทารก  

ทารกคลอดก่อนกำหนด
น้ำหนักทารกแรกคลอดมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น เช่น ทารกมีตัวใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้คลอดยาก หรืออาจเกิดอันตรายขณะคลอด
ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด  
ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ
ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้
   ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่อมารดา   

หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่าปกติ พบในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยง ทำให้ต้องทำการผ่าคลอดมากขึ้น เพราะว่าทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดปกติ
เมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคตมากกว่าหญิงปกติถึง 7.4 เท่า
การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) โรคหัวใจ โรคไต การทำลายของเส้นประสาท เป็นต้น
 
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 

มีน้ำหนักเกิน
เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ก่อนหน้า
ครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
กลุ่มเสี่ยงมีภาวะก่อนเป็นโรคเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งหมายถึงมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome

เวลาที่ควรตรวจคัดกรอง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรทำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
หากมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์

 
   วิธีรักษาตนเองเมื่อเป็น   โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์   
    หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถจัดการกับะดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย แต่บางคนก็อาจจำเป็นต้องได้รับยารักษา
 

อาหารสำหรับคนท้องที่เป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ต้องเลือกเมนูอาหารอย่างไร ตัวอย่างโปรแกรมอาหาร สำหรับ คุณแม่ที่เป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  นี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ในแต่ละวัน เพื่อให้คุณแม่ท้องไม่เบื่อ ซึ่งสิ่งที่ต้องใส่ใจเมื่อคนท้องเป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ได้แก่

   1. คนท้องต้องเลือกโปรตีนจากไข่ หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงหนังหรือส่วนที่ติดมัน โดยเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ อาทิ ไข่ เนื้อไก่หรืออกไก่ หมูเนื้อแดง เนื้อปลา

   2. คาร์โบไฮเดรตควรเลือกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต วุ้นเส้น หรือขนมปังโฮลวีต ซึ่งการดูดซึมระดับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าช่วยให้อิ่มได้นาน ไม่หิวบ่อย ๆ ควรระวังข้าวเหนียวที่มีพลังงานสูง ส่วนเส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือขนมปังขาว ก็ควรระวัง     ผักที่คนท้องเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ แครอท ฟักทอง เผือก มัน ข้าวโพดถั่วลิสง เพราะผักที่เป็นหัวและถั่วจะมีแป้ง ให้พลังงานสูง ควรเลือกกินให้เหมาะสมในแต่ละวัน

   3. ผลไม้หวานๆน้ำตาลสูง อาทิ เช่น ทุเรียน ละมุด มะพร้าว ลำไย ขนุน เงาะ

   4. สำหรับคนท้องที่เป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ควรดื่มนมจืดและพร่องมันเนย

   5. เลือกกินอาหารปรุงสุกที่สด สะอาด ปลอดภัย อาหารควรเลือก ตุ๋น ต้ม นิ่ง ลวก อบ ย่าง

อาหารที่คนท้องที่เป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ควรเลี่ยง

   • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำมะพร้าว รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

   • ไม่ใช้น้ำตาลในการปรุงแต่งอาหาร น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และจำเป็นต้องควบคุมปริมาณการกินขนมหวาน

   • ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ลำไย ขนุน องุ่น มะม่วงสุก เงาะ รวมถึงผลไม้อบแห้ง

   • ผักที่เป็นหัว แครอท เผือก มัน ข้าวโพด เนื่องจากผักจำพวกนี้มีคาร์โบไฮเดรตที่ค่อนข้างสูง

   • อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง หมูติดมัน เนย กระเทียม น้ำมันหมู กะทิ เพื่อป้องกันภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

   • อาหารสำเร็จรูป ซุปกระป้อง อาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว ไส้กรอก แหนม

   • อาหารที่มีรสเค็มจัด น้ำปลา ของหมักดอง ปลาเค็ม เนื่องจากทำให้ผู้ที่เป็น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

การรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

การรับประทานอาหารในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะแตกต่างกันไปตามระดับค่าน้ำตาลในเลือด ซึ่งแพทย์ที่ดูแลสุขภาพจะช่วยแนะนำโปรแกรมการรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพต่อทั้งมารดาและทารก ทานอาหารคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมและเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เมนูอาหารจะเหมือนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป คือมีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่

หากคุณไม่สามารถปฏิบัติตามโปรแกรมที่แพทย์แนะนำ หรือยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ จะทำให้ร่างกายมีการสร้างสารคีโตน โดยสารคีโตนจะพบได้ในปัสสาวะหรือเลือด ซึ่งหมายถึงร่างกายมีการใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน แทนที่จะใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งพลังงาน  ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์

แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาสารคีโตนในปัสสาวะในเลือด ถ้าหากมีสารคีโตนในระดับสูง แพทย์จะปรับเปลี่ยนประเภท ปริมาณของอาหารที่รับประทาน และเวลาการรับประทานอาหาร

เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย

การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หรือการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จะช่วยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสอยู่ในช่วงเป้าหมายที่กำหนด 

ถ้าคุณมีความดันโลหิตสูง หรือมีระดับคอเลสเตอรอลสูง การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงได้

การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียด เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก หัวใจ กล้ามเนื้อ ทำให้ข้อต่อต่างๆ เคลื่อนไหวได้สะดวกและ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

* อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์
   จะป้องกันหรือชะลอการเป็น   โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้อย่างไร

   • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อควบคุมน้ำหนัก   

   • ให้นมบุตรด้วยตัวเอง การให้นมจะช่วยให้เผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น

   • หากผลตรวจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต และคุณกำลังมีภาวะน้ำหนักเกิน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำหนักที่ควรลดลง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว   

ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์จิระพงค์ อุกะโชค
อายุรแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อ
(เบาหวาน-ธัยรอยด์)

ศูนย์เบาหวาน