มะเร็งตับ

     เพราะระบบทางเดินอาหารมีการทำงานที่ซับซ้อน จึงต้องการการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้โรคที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันมีค่อนข้างเยอะ ซึ่งมีทั้งโรคที่พบเจอได้บ่อย และโรคที่เจอได้ค่อนข้างน้อย

     โรคมะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทย โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ
ชนิดของมะเร็งตับ
1.มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ เกิดจากเนื้อเยื่อของตับโดยตรง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
  •  มะเร็งเซลล์เนื้อเยื่อตับ
  •  มะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ
2.มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ เกิดจากการแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม
สาเหตุของมะเร็งตับ, มะเร็งเซลล์ตับ 
  •  ไวรัสตับอักเสบบีและซี
  •  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  •  สารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) หรือเชื้อราที่อยู่ในถั่วลิสงที่อับชื้น, พริกแห้ง, กระเทียม และหัวหอมเป็นต้น
  •  ไขมันพอกตับ
มะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ 

   สาเหตุที่พบเจอได้บ่อย เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ – ซึ่งเป็นพยาธิที่มีการปนเปื้อนอยู่ในอาหารประเภท ของหมักดอง ปลาร้า ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสุกๆ ดิบๆ โดยพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจะอาศัยและชอนไชไปตามท่อน้ำดีที่อยู่ในเนื้อตับ เนื่องจากในท่อน้ำดีจะมีสารอาหารซึ่งเป็นที่ต้องการของพยาธิใบไม้ บางครั้งพบว่าพยาธิใบไม้มักจะไปอุดตันในท่อน้ำดี ก่อให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือตาเหลือง

   การได้รับสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบได้ในอาหารจำพวก ปลาร้า ปลาส้ม หรือแหนม เป็นต้น หรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก, กุนเชียง, เนื้อเค็ม และปลาเค็ม เป็นต้น  และอาหารรมควัน เช่น ไส้กรอกรมควัน ปลารมควัน

   จากสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สาเหตุอันดับต้นๆ ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งตับในประเทศไทย คือ “การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี” ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากติดต่อจากแม่มาสู่ลูก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ คือ “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

มะเร็งตับจากการดื่มแอลกอฮอล์

      การดื่มแอลกอฮอล์จัดจะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคมะเร็งตับตามมา แต่กรณีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซีจะไม่นำไปสู่ภาวะตับแข็ง แต่จะนำไปสู่มะเร็งตับได้เลย ดังนั้นจึงการตรวจคัดกรองมะเร็งตับจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  • อาการและอาการแสดง
  •  ระยะแรก - ไม่แสดงอาการใด ๆ
  •  อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  •  จุกเสียดท้อง ท้องอืด
  •  อาการปวดชายโครงด้านขวา
  •  ตัวเหลือง ตาเหลือง
  •  ท้องโตขึ้น มีน้ำในช่องท้อง
  •  ขาบวม มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด
  •  อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
  •  การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย
  •  การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
  •  ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ “แอลฟาฟีโตโปรตีน (AFP)”
  •  การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือบางครั้งอาจใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
  •  การตรวจชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งก้อนเนื้อ (Biopsy)
การรักษาโรคมะเร็งตับ

     หลักการรักษามะเร็งตับ คือ ถ้าอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ก็จะใช้วิธีการผ่าตัดหรือการปลูกถ่ายตับ แต่ถ้าอยู่ในระยะโรคที่ก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือมีหลายๆ ก้อน เช่น 3-5 ก้อนขึ้นไป อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางเส้นเลือดหรือการรับประทานเคมีบำบัด หรือการรักษาตามอาการในผู้ป่วยระยะท้ายๆ แต่ปัญหาที่มักเจอได้บ่อยๆ คือ คนทั่วไปมักจะไม่ให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรอง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตมาก มีน้ำในช่องท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นสิ่งที่จำเป็น หากพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย จุกชายโครงขวา ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง

การป้องกันโรคมะเร็งตับ
  •  ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้
  •  ผู้ที่เป็นพาหะหรือสงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุกๆ 6 เดือน
  •  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสงบด, หัวหอม, พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น เพราะสารพิษชนิดนี้มีความทนทานต่อความร้อนสูง  ไม่สามารถทำลายได้แม้จะนำไปประกอบอาหารผ่านความร้อน
  •  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เช่น อาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า, ปลาส้ม, หมูส้ม และแหนมเป็นต้น  อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก, กุนเชียง, เนื้อเค็ม, และปลาเค็มเป็นต้น  
  •  ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ
  •  ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ
  •  ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงทุกราย
    • ผู้ป่วยโรคตับแข็ง จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม
      ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดบีหรือซี  หรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  •  ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ Alpha-fetoprotein (AFP) และตรวจอัลตราซาวนด์ตับเป็นทุกๆ 3-6 เดือน

ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์อานนท์ พีระกูล
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ