ออฟฟิศ ซินโดรม

คลินิกออฟฟิศ ซินโดรม

   พร้อมให้บริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีอาการ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง อันเกิดจากการทำงานในสภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสม การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมหรืออิริยาบถท่าทางต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมกายภาพบำบัด พร้อมด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และพึงพอใจในการ รับบริการสูงสุด

ออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร

   กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเยื่อพังผืดมักพบบริเวณ คอ บ่า ไหล่ หลัง ที่มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม หรือ พฤติกรรมการทำงานที่ไม่เปลี่ยนท่าทาง ทำให้เกิดการบาดเจ็บสะสม จนกล้ามเนื้อมีเวลาฟื้นตัวไม่เพียงพอ

ทำไมต้องรักษา

   หากไม่รักษาอาการปวดจะทวีความรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ มึนงง หูอื้อ ตาพร่ามัว ทำให้ เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน คุณภาพชีวิตลดลง จนอาจทำให้เกิดผลเสียในการทำงานได้

 

วิธีการรักษา

1. การรักษาเพื่อลดการปวดร้าว และคลายกล้ามเนื้อฝืดตึง จากปมพังผืด (Trigger point eradication) ประกอบด้วย
  • • การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching)
  • • การนวด (Massage)
  • • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (High Intensity Laser Therapy)
  • • การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave therapy)
  • • การรักษาด้วยอัลตร้าซาวด์ (Therapeutic Ultrasound)
  • • การแทงเข็มที่ปมพังผืด (Dry needling)
  • • การฉีดยาที่ปมพังผืด (Trigger point injection)
  • • การฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture)
  • • การรักษาด้วยยา (Medication)
2. การป้องกันการเป็นซ้ำ
  • • การปรับสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อให้ ผู้ทำงานอยู่ในท่าทางที่สมดุล ลดการบาดเจ็บซ้ำ
  • • ฝึกท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์
  • • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยการเล่นโยคะ หรือรำไม้พลอง
  • • ว่ายน้ำเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ หลัง
  • • รักษาปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

การยืดกล้ามเนื้อบ่า และรอบสะบัก 

1. การยืดกล้ามเนื้อบ่า
  • • นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ โดยใช้มือขวาจับขอบเก้าอี้หรือไขว้หลัง
  • • ใช้มือซ้ายเอื้อมแตะเหนือศีรษะด้านขวา พร้อมออกแรง ดึงศีรษะไปทางด้านซ้าย
  • • ยืดค้างไว้ 10 วินาที ต่อครั้ง จำนวน 10 ครั้ง ต่อรอบ ทำ 3 รอบ ต่อวัน
  • • สลับข้างซ้าย-ขวา ทำในลักษณะเดียวกัน

2. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักส่วนล่าง
  • • นั่งหรือยืนตัวตรง
  • • ยื่นแขนขวาไปข้างหน้าใช้แขนซ้ายเกี่ยวศอกขวา ออกแรงยืดไปทางด้านซ้าย
  • • ยืดค้างไว้ 10 วินาที ต่อครั้ง จำนวน 10 ครั้ง ต่อรอบ ทำ 3 รอบ ต่อวัน
  • • สลับข้างซ้าย-ขวา ทำในลักษณะเดียวกัน

3. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักส่วนบน
  • • นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ ใช้มือขวาจับเบาะเก้าอี้หรือไขว้หลัง
  • • ใช้มือซ้ายแตะเหนือศีรษะ ออกแรงดึงศีรษะให้ก้มลงไป ทางด้านซ้าย
  • • ยืดค้างไว้ 10 วินาที ต่อครั้ง จำนวน 10 ครั้ง ต่อรอบ ทำ 3 รอบ ต่อวัน
  • • สลับข้างซ้าย-ขวา ทำในลักษณะเดียวกัน

การแก้ไขท่าทางให้อยู่ในสมดุล

ท่านั่งที่ได้สมดุลร่างกาย จากการปรับอุปกรณ์
ควรยืนให้ศีรษะ ลำตัว และขาอยู่ในแนวเส้นตรง คางขนานกับพื้น อกแอ่นไปข้างหน้าเล็กน้อย ไม่ห่อไหล่ ทำให้กระดูกต้นคอและ กระดูกสันหลังเรียงตัวกันได้ดีในลักษณะที่ถูกต้อง ช่วยให้จุดศูนย์ถ่วง ของร่างกายอยู่ในแนวรับน้ำหนักตัวที่มีประสิทธิภาพ จึงช่วยลด ความตึงและความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อให้เกิดได้น้อยที่สุด 

   Health Tips

   คุณรู้หรือไม่ว่า สาเหตุของการขาดงานอันดับต้นๆ มาจาก โรคออฟฟิศซินโดรมที่ซ่อนเร้นอยู่ การวินิจฉัยที่ถูกต้องและ การรักษาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ จะทำให้คุณกลับไปทำงาน ได้อย่างเต็มสมรรถนะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.อาภารัตน์ สุริยวงศ์พงศา
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู