รับมือ! สารพัดโรคเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

รับมือ! สารพัดโรคเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

   โรคของเด็ก มักแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเด็กยังคงเจริญเติบโตเรื่อยๆ ตามช่วงวัย ภูมิคุ้มกันโรคที่มีย่อมต่ำกว่า และมักมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ หากเจ็บป่วยและได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ดี จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล กุมารแพทย์ประจำศูนย์เด็กและวัยรุ่น จะมาให้ความรู้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ให้พร้อมรับมือและสังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคร้ายทุกช่วงวัย
วัยทารกแรกเกิด
โรคธาลัสซีเมีย หรือโลหิตจาง
   โรคที่สามารถถ่ายทอดได้จากพ่อแม่มาสู่ลูก หากเกิดกับทารกอาการของโรคอาจรุนแรงจนเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเมื่อคลอดเพียง 1 - 2 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงเล็กน้อย ตัวซีดลงเมื่อมีไข้ จะสามารถสังเกตอาการได้ตั้งแต่อายุเพียง 2 - 3 เดือนแรกหากรุนแรงมาก ตาจะเหลือง อ่อนเพลีย ม้ามและตับโต กระดูกใบหน้าเปลี่ยนรูป จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ดาวน์ซินโดรม 
   โรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะปัญญาอ่อน ลักษณะของเด็กดาวน์ซินโดรมจะมีศีรษะค่อนข้างเล็ก แบน และตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากเล็ก ตัวเตี้ย อาจเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคลำไส้อุดตันตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์วัย 35 ขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อลูกน้อยเป็นดาวน์ซินโดรมสูงถึง 1 ใน 270 ราย ป้องกันได้โดยการตรวจเลือดคุณแม่หาความผิดปกติของทารกในครรภ์
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
   ทารกที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ หัวใจพิการชนิดมีภาวะตัวเขียว และชนิดไม่มีภาวะตัวเขียว อาการที่พบและทำให้สงสัยว่าอาจมีโรคหัวใจ เช่น ริมฝีปากเขียว หายใจแรงและเร็ว ซี่โครงบาน หน้าอกบุ๋ม เหนื่อยง่าย หายใจแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็นซีดแบบเฉียบพลัน ทารกบางรายแพทย์อาจตรวจพบว่ามีโรคหัวใจ ตั้งแต่ก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติซึ่งอาจตรวจไม่พบ และแสดงอาการชัดเจนในช่วงหลังก็ได้
วัยเตาะแตะ (อายุ 1-3 ปี) 
โรคท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง
   โรคท้องเสีย เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัสเป็นเชื้อไวรัสตัวร้าย ที่อยู่รอบๆ ลูกน้อย อาจแฝงอยู่กับของเล่นอาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด หากเด็กได้รับเชื้อนี้เข้าไปอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน บางรายมีไข้สูง โดยเฉพาะทารกอายุต่ำกว่า 2 ปี จะทำให้อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ดังนั้นควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหารของลูกน้อยให้สะอาดและปลอดภัย พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย ด้วยวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า
โรคปอดบวมและไอพีดี (IPD)
   โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื้อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หากติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้อาจเจียน และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูงอาจรุนแรงทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ รวมทั้งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหลายเท่า หากเด็กมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วย เช่น เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
สมาธิสั้น
   เด็กในวัยแรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การกระตุ้นโดยพ่อแม่เป็นผู้สอน ดังนั้นการปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์นานๆอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย เด็กจะมีสมาธิและความจดจ่อแย่ลงจนอาจทำให้เกิดโรคความจดจ่อเสื่อมหรือสมาธิสั้น 
 เด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 4-6 ปี)
 
ไข้เลือดออก
   โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กอายุ 2 - 10 ปี มักระบาดในฤดูฝนในระยะแรกลูกน้อยจะมีตัวร้อนจัด หน้าและลำตัวแดง ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร และมีจุดแดงๆ คล้ายยุงกัดขึ้นบริเวณแขน ขา ใบหน้า หรือตามลำตัว ในบางรายอาจมีอาการช็อก หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดีหากมีไข้ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่ และควรรีบพาไปพบแพทย์
ไอกรน
   โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง พบได้บ่อยในเด็กโดยส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว มักมีอาการไอแบบซ้อนติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทันจึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู้ป สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก ตั้งแต่เด็กอายุได้ 2-3 เดือน
เด็กวัยเรียน (อายุ 7-12 ปี) 
ภูมิแพ้
   แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อที่อันตรายถึงชีวิต แต่มักพบบ่อยในเด็กสาเหตุหลัก คือ พันธุกรรม รองลงมาคือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก นับวันยิ่งพบมากขึ้น เพราะเด็กสมัยนี้อยู่กับธรรมชาติน้อยลง และมีโอกาสสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ได้มาก อาการที่สังเกตได้ คือ จามบ่อยมีน้ำมูกใสๆ ยิ่งถ้ามีอาการรุนแรงมาก เช่น ไอหรือเจ็บคอบ่อย เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับทำให้นอนหลับไม่สนิทส่งผลต่อการเรียนแบบนี้ควรรีบพามาใหคุณหมอตรวจ เพื่อจะได้แนะนำวิธีดูแลตนเองต่อไป
โรคหวัด
   โรคหวัดแพร่กระจายได้ง่ายจากสัมผัสกับละอองน้ำลายในอากาศจากการไอหรือจาม ในเด็กเล็กจะมีไข้ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก ส่วนเด็กโตจะมีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารหากตัวร้อน ซึม หายใจเร็วและแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหอบ อาจเป็นโรคปอดบวมร่วมด้วย ดังนั้นพ่อแม่ควรเช็ดตัวและให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลในปริมาณที่ระบุในฉลาก ดื่มน้ำมากๆ หากลูกน้อยคัดจมูกควรใช้น้ำเกลือหยอด และดูดน้ำมูกออกจะช่วยให้เด็กสบายขึ้น หากไข้ยังไม่ลดหรืออาการทรุดลง ควรรีบพาไปพบแพทย์
เด็กโต (13 ปีขึ้นไป) 
ปัญหาช่องปากและฟัน
   จากวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาว มักเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและฮอร์โมนเพศ เช่น สูงขึ้น เสียงแตก เริ่มมีสิว รวมถึงมีฟันแท้ขึ้นครบทั้งปาก ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะฟัน คือ ส่วนประกอบสำคัญที่สร้างรอยยิ้ม จึงควรลดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล รวมทั้งแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อหรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้งทุกวันทั้งเช้า - ก่อนนอน รวมทั้งพบทันตแพทย์ตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
   โรคของเด็กอาจไม่เป็นเรื่องเล็กๆ ของพ่อแม่อีกต่อไป การดูแลเอาใจใส่ให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกัน ไม่เจ็บป่วยง่าย ร่างกายแข็งแรงย่อมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ

ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช เข้าใจทุกปัญหาสุขภาพเด็กและพร้อมดูแลรักษาโรคของเด็กทั่วไปจนถึงโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ สมอง โรคภูมิแพ้ พัฒนาการเด็ก ทันตกรรมเด็ก ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยกุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ตลอด 24 ชม.