วิธีรับมือเด็กสมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ที่พ่อแม่ควรรู้

วิธีรับมือเด็กสมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ที่พ่อแม่ควรรู้

   โรคสมาธิสั้นในเด็ก (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHA) เป็นภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ควบคุมสมาธิและการเคลื่อนไหว ทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ไม่ดี จะมีอาการขาดสมาธิ ซน วอกแวก ไม่อยู่นิ่ง เกิดผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงเพราะโดยธรรมชาติเพศชายมีพลังเยอะกว่า ส่วนเด็กผู้หญิงมักพบว่ามีอาการเหม่อลอยมากกว่า

อาการของเด็กสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้น จะมีอาการแสดงออกชัดเจนเมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียนและได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น รวมถึงเป็นช่วงวัยที่มีการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างก้าวกระโดด โดยอาการที่สังเกตได้ชัดเจนมีดังนี้

  • ไม่มีสมาธิ ซน
  • วอกแวกง่าย
  • ซนอยู่ไม่นิ่ง Hyper ชอบเดินไปมา นั่งไม่ติดที่
  • ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยาก
  • หุนหันพลันแล่น ใจร้อน
  • เล่นแรง เล่นได้ไม่เหนื่อย ต้องการปลดปล่อยพลังอยู่ตลอดเวลา
  • พูดเก่ง พูดเร็ว พูดไม่หยุด พูดไปเรื่อยๆ
  • พูดสวน ชอบพูดแทรก
  • เหม่อลอย ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ
  • จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ

 ความซนกับเด็กมักเป็นของคู่กันจนทำให้พ่อแม่มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเด็กซนมากเกินไป ไม่อยู่นิ่ง ดูไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

ลูกของคุณเป็นสมาธิโรคสั้นหรือไม่? 

อาการเด็กสมาธิสั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นในการวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกายในบางกรณี เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้

หากสงสัยว่ามีอาการของโรคสมาธิสั้น ควรพาเด็กเข้าพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

โรคสมาธิสั้นส่งผลต่อเด็กอย่างไร

โรคสมาธิสั้นของเด็ก อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมาธิ การควบคุมตนเอง การคิดและการวางแผน รวมถึงการจัดลำดับสิ่งต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • ศักยภาพการเรียนรู้ลดลง เช่น มีอาการเหม่อลอย เรียกชื่อแล้วไม่หัน ฟังไม่รู้เรื่อง ถามตอบไม่เข้าใจ ทำงานไม่เสร็จ หรือการเรียนไม่ค่อยดี
  • มีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม เช่น ใจร้อน หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ได้ มีพฤติกรรมด้านลบและกลายเป็นเด็กดื้อ เกเร
  • เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียน พยายามเรียนก็ไม่เข้าใจ จนขาดความมั่นใจในตัวเองและอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคสมาธิสั้น บางครั้งอาจพบโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disorder : LD) โรคกล้ามเนื้อกระตุก (Tics) และโรควิตกกังวล

เด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการตั้งแต่ระยะแรก เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือดูแลอย่างถูกต้อง พฤติกรรมนี้จะติดตัวเด็กไปจนโตและส่งผลในอนาคตได้

การรักษาโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กนั้นประกอบด้วย 

  • การปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการ

จะได้ผลดีในเด็กที่ยังมีอาการไม่มากและเต็มใจเข้ารับการฝึกเพื่อให้อยู่นิ่ง ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่องร่วมด้วยนั้นจะเรียนไม่ทันเพื่อน พ่อแม่ควรหาวิธีพัฒนาการเรียนของเด็กอย่างเหมาะสม

  • การรักษาด้วยการใช้ยา

ยาเพิ่มสมาธิ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น Methylphenidate เป็นยาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาท ช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็ก ทำให้มีสมาธิจดจ่อในการเรียนมากขึ้น

แม้การรักษาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อาการสมาธิสั้นในเด็กดีขึ้น แต่พ่อแม่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยปรับพฤติกรรมของลูก รู้จักการสร้างวินัยในตนเอง และสามารถควบคุมตนเองได้

เพราะในสังคมยุคดิจิทัล สื่อและเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้เด็กในยุคนี้เรียนรู้สื่อต่างๆ ได้เร็ว และมีความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นมากขึ้น เช่น ติดจอ นอนน้อย เครียดมาก เรียนเร็ว ออกกำลังกายน้อย

การดูแลเด็กสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นของเด็ก จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวอย่างเข้าใจ ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหานี้ คือ พ่อแม่ควรใช้ความพยามยามอย่างมาก มีทัศนคติต่อเด็กอย่างถูกต้องเพื่อลดผลกระทบจากการดูแล และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมจุดเด่น ทำให้เด็กสามารถประสบความสำเร็จและปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ

รวมถึงพ่อแม่ควรมีความตั้งใจและร่วมมือช่วยกันดูแลเด็ก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความอดทน ให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว มีทัศนคติที่ดีและเพิ่มพลังบวกอยู่เสมอ มองเห็นคุณค่าในสิ่งเล็กๆ ที่เด็กทำ จะช่วยทำให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง :

บทความ เรื่อง เช็คซิ! ลูกแค่ซนหรือสมาธิสั้น
https://www.nonthavej.co.th/hyperactivity.php

พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น