
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2567
ทุกนาทีขณะนอนหลับอาจเกิดภาวะ "หยุดหายใจ" Sleep apnea the hidden danger
“การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดที่จะทำให้ร่างกายได้พักส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จิตใจ เป็นไปอย่างปกติ และมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวการนอนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนมีหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหานอนไม่หลับปัญหาการนอนหลับไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะง่วงนอนกลางวัน ภาวะนอนกรนหยุดหายใจ เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยปัญหาดังกล่าว นอกจากทำให้รบกวนการนอนหลับของเพื่อนร่วมห้องแล้วยังทำให้ผู้ป่วยมีภาวะหายใจแผ่ว หยุดหายใจ ทำให้สะดุ้งตื่นบ่อย และสมองขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อัมพาต ขาดสมาธิ ความจำสั้น ง่วงนอนกลางวัน หรือหลับใน อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุขณะขับรถ และเสียชีวิตได้
ศูนย์ตรวจการนอนหลับ โรงพยาบาลนนทเวช เป็นศูนย์การตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากการนอน เช่น นอนกรน นอนไม่หลับ นอนกัดฟัน นอนขากระตุก และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ อายุรกรรมระบบประสาท อายุรกรรมระบบทางเดินหายใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก
บริการของศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab Center)
ตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของการนอนหลับด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Polysomnography) เป็นการตรวจนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อดูลักษณะการนอนว่าหลับสนิทหรือไม่ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดระดับการนอนหลับ ตรวจวัดคลื่นสมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดลมหายใจ ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจเสียงกรน ตรวจท่านอนและตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือด
การรักษาด้วยเครื่องซีแพพ (CPAP) ถือเป็นมาตรฐานการรักษา โดยการเปิดขยายและถ่างทางเดินหายใจส่วนต้นในขณะนอนหลับ เครื่องจะเป่าลมไปสู่จมูกผ่านทางหน้ากากตลอดเวลา ผู้ป่วยจะไม่เจ็บปวด เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจตีบแคบ
การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อทำให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนเกิดเป็นพังผืดและมีการหดตัว ทำให้ช่องเดินอากาศกว้างขึ้นและหายใจได้สะดวก แผลจะมีขนาดเล็กมากอยู่บริเวณใต้เยื่อบุเพดานอ่อนในช่องปาก
การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุอยู่ที่ตำแหน่งใด เช่น จี้เยื่อบุจมูกด้วยคลื่นวิทยุ และ การใช้เลเซอร์ผ่าตัดสลายเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลให้มีขนาดเล็กลงร่วมกับการเย็บซ่อมแซมต่อมทอนซิล ก็จะสามารถรักษาผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การให้คำปรึกษาด้านปัญหาการนอนหลับ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ อายุรกรรมระบบประสาท อายุรกรรมระบบทางเดินหายใจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก เนื่องจากโรคนอนหลับผิดปกติอาจเกิดจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน
เหตุใดการนอนไม่มีคุณภาพจึงเป็นอันตรายสำหรับบางคน?
การนอนกรนคงไม่เป็นอันตรายหากไม่ได้มีภาวะหายใจแผ่วหรือหยุดหายใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ขณะหลับกับผู้ที่มีปัญหานอนกรน กลไกดังกล่าวเกิดจากการตีบแคบของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเป็นมากขณะหลับ ผลที่ตามมาคนไข้มักจะสะดุ้งตื่นจากภาวะออกซิเจนต่ำ หรืออากาศเข้าปอดที่ลดลงบางครั้งอาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำ ซึ่งผลต่อสุขภาพมีหลายประการดังที่ได้กล่าวไป
![]() อากาศสามารถเข้าสู่ปอดผ่านทางระบบทางเดินหายใจได้ปกติ |
![]() อากาศไม่สามารถไหลเข้าสู่ปอด เนื่องจากมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น |
การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test ) คืออะไร?
การตรวจสุขภาพการนอนหลับ เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์การทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการเคลื่อนไหว รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับ ปัจจุบันถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐานสากล สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับอาจจะผิดพลาดได้ ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็คผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้
เมื่อไหร่ควรรับการตรวจ Sleep test?
Sleep test ควรตรวจเมื่อเกิดอาการ
ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปกติ
ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น
ปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ
มีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว
หายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
มีอาการหายใจลำบาก หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
นอนกัดฟัน หรือ นอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ
ความดันโลหิตสูง ซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
ตื่นนอนกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือปัสสาวะกลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ
การตรวจ Sleep test มีแบบใดบ้าง และควรเลือกตรวจอย่างไร?
การตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน ที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา สามารถแบ่งออกได้ เป็น 4 ระดับ ตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ โดยใช้ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลดังนี้
- ระดับที่ 1 การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน เพื่อประเมินการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้า หัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจ เป็นอย่างน้อย โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล หรือนอกสถานที่ แต่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ตรวจ ซึ่งการตรวจลักษณะนี้จะทำให้ทราบความผิดปกติของการนอนหลับประเภทอื่นๆ ของการนอน สามารถวินิจฉัยภาวะนอนกรนได้ทุกระดับความรุนแรง และในกรณีผู้ป่วยนอนกรน เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก และประเมินว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ค่าความดันอากาศระดับใดในการรักษา ซึ่งไม่สามารถทำในการตรวจระดับอื่น
- ระดับที่ 2 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เผ้าตลอดทั้งคืน วิธีนี้อาจตรวจตามบ้าน ในห้องนอนของผู้รับการตรวจเอง หรือ ตามสถานที่พักต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับ การตรวจระดับ 1
- ระดับที่ 3 เป็นการตรวจภาวะหยุดหายใจที่บ้าน โดยการตรวจจะไม่ได้ดูคลื่นสมองเหมือนการตรวจระดับ 1 ข้อดีคือสะดวกสบายค่าใช้จ่ายไม่แพง อาจทำในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือสังสัยภาวะหยุดหายใจระดับกลางถึงขั้นรุนแรง
- ระดับที่ 4 เป็นการตรวจดูภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยอาศัยการดูออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งมีความแม่นยำในการวินิจฉัยน้อย
เตรียมตัวอย่างไรก่อนรับการตรวจ Sleep test?
ผู้รับการตรวจส่วนมากสามารถนอนหลับได้ใกล้เคียงปกติ และไม่จำเป็นต้องหยุดงาน เนื่องจากการตรวจทำในช่วงใกล้เวลานอนปกติ โดยในวันที่ตรวจผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้า เหมือนชุดที่ใส่นอนเป็นประจำ โดยทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากจะไม่มีสร้างความเจ็บปวดใดๆ นอกจากความไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่ติดตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้ในวันที่ทำการทดสอบ ผู้รับการตรวจควรหลีกเลี่ยงการดื่ม กาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก หลังเที่ยง และไม่ควรใส่น้ำมัน หรือครีมแต่งผม โดยควรจะนอนในท่าที่สบายและเคยชินที่สุด สำหรับกรณีที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวเป็นมานาน เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน หรือ ยานอนหลับ อาจไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนตรวจ อย่างไรก็ดีควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่และแพทย์ทราบด้วย หลังจากตรวจเสร็จ ในช่วงเช้า ผู้รับการตรวจสามารถตื่นนอนตามเวลาปกติ โดยกรณีที่ตรวจระดับ 2 อาจนัดแนะเวลากับเจ้าหน้าที่ให้มาถึงสถานที่รับการตรวจตามสะดวก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการแกะอุปกรณ์ต่างๆออก และนำกลับไปวิเคราะห์ผลและตรวจสอบโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab Center)
โทร. 0-2596-7888