เช็กให้ไว! คลำพบก้อนแบบไหนเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”

เช็กให้ไว! คลำพบก้อนแบบไหนเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร

มะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ลุกลามและกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย สังเกตได้ว่าจะมีก้อนที่เต้านม ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป เกิดแผลและอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกมา รวมทั้ง มีผื่นบริเวณหัวนม

สัญญาณเตือนเสี่ยงมะเร็งเต้านม

เราสามารถสังเกตความผิดปกติบริเวณเต้านมได้จาก 7 อาการดังนี้

  • 1.คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้
  • 2.ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป บางทีพบว่าขนาดเต้านมบางข้างมีการเปลี่ยนแปลง คือ ไซส์เปลี่ยนไป 1 คัพ
  • 3.มีผื่น หรือผิวหนังที่เต้านมหนาขึ้นคล้ายเปลือกส้ม
  • 4.มีรอยบุ๋มที่เต้านมหรือบริเวณที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
  • 5.มีน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม หรือบางรายอาจเป็นเลือด
  • 6.มีแผลที่บริเวณหัวนมแล้วรักษาไม่หาย
    7.​มีอาการเจ็บเต้านมผิดปกติที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน บางรายมีอาการเจ็บเต้านมแปลกๆ ที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
มะเร็งเต้านมมักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มแรก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติ ส่วนใหญ่คลำพบก้อนในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตจนเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว
ก้อนในเต้านมที่พบบ่อยมี 3 แบบ คือ

ซีสต์ที่เต้านม หรือถุงน้ำในเต้านม เป็นถุงน้ำที่มีเซลล์ต่อมน้ำนมล้อมรอบ ไม่ใช่ลักษณะเริ่มต้นของมะเร็ง และส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งเต้านม

ก้อนเนื้อธรรมดาที่เต้านม คือ เซลล์ของต่อมน้ำนมและเนื้อเยื่อเต้านมจับตัวกันเป็นก้อน ลักษณะนี้จะเป็นก้อนเนื้อธรรมดาที่ไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง มีขอบเขตชัดเจน สามารถคลำพบก้อนได้

ก้อนเนื้อมะเร็งเต้านม มีลักษณะค่อนข้างแข็งกว่าก้อนเนื้อธรรมดา และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย 

หากคลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมแล้วไม่รู้สึกเจ็บอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุหรือเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และยังเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

รู้ทันมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจคัดกรอง

นอกจากตรวจโดยการคลำเต้านมแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจพบความผิดปกติในระยะแรกได้

  •  การตรวจแมมโมแกรม

   เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง คล้ายการตรวจเอกซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีต่ำกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป มีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก เพราะสามารถเห็นความผิดปกติในเต้านมได้ดี เช่น เนื้อเยื่อ หินปูน หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก และระบุตำแหน่งได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว ใช้ได้ผลดีในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเนื้อเต้านมจะไม่หนาแน่นมาก จะตรวจเห็นรายละเอียดได้มาก ส่วนผู้ที่อายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก เพราะเนื้อเยื่อภายในเต้านมมีความหนาแน่นมากกว่า

ทั้งนี้ผลที่ได้จากการตรวจแมมโมแกรมเป็นศัพท์เทคนิคที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยากและมักจะทำให้เข้าใจผิด ซึ่งผล BIRADS 1-5 เป็นมาตรฐานการอ่านเพื่อสื่อความหมายให้แพทย์แต่ละสาขาเข้าใจกันได้ง่าย ไม่ใช่ระยะโรคมะเร็งแต่อย่างใด

BIRADS 1 หมายถึง ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

BIRADS 2 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจติดตามอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

BIRADS 3 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม < 2% ควรตรวจติดตามทุก 6 เดือน

BIRADS 4 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 20 - 50% ควรเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม

BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูง ควรเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม

  •  การตรวจอัลตร้าซาวด์

 เป็นการตรวจโดยส่งคลื่นความถี่เสียงสูงสแกนเข้าไปในเนื้อเต้านม คลื่นเสียงจะเข้าไปกระทบกับส่วนต่างๆ และสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจ ทำให้แยกความแตกต่างเนื้อเยื่อกับก้อนในเต้านมได้ ผลตรวจจะแม่นยำขึ้นในผู้มีเนื้อเต้านมหนาแน่น หรืออายุน้อย

มะเร็งเต้านม เป็นภัยร้ายแฝงตัวมาแบบเงียบๆ เพราะไม่มีแสดงอาการออกมาในระยะเริ่มแรก ผู้หญิงหลายคนมักมองข้ามคิดว่าเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วคลำเจอจึงรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ เพราะก้อนเนื้อเริ่มใหญ่ขึ้น หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม

หากปล่อยไว้นานจนโรคมะเร็งร้ายลุกลามมากแล้วมาพบแพทย์จะทำให้การรักษาล่าช้าและอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

3 วิธี ตรวจเต้านมง่ายๆ ด้วยตนเอง
  •  ร้อยละ 90 ของเนื้องอกในเต้านมผู้หญิง ถูกพบครั้งแรกด้วยตนเอง ดังนั้น การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้หญิงทุกควรตรวจเป็น
  •  ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน
  •  ตรวจหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน
  •  ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมดลูก ควรตรวจด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
1.ยืนหน้ากระจก
  •  วางแขนข้างลำตัวตามสบาย เพื่อสังเกตหัวนมทั้งสองข้างว่ามีลักษณะบิดเบี้ยวหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  •  ประสานมือทั้งสองข้างไว้เหนือศีรษะ แล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
  •  โค้งตัวมาข้างหน้าโดยให้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือเก้าอี้ ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีลักษณะผิดปกติจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น
 2.นอนราบ
  •  นอนหงายราบในท่าสบาย และสอดหมอนหรือม้วนผ้าไว้ใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ
  •  ยกแขนข้างที่ตรวจเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ จะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อมากที่สุดและมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด
  •  ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง คลำให้ทั่วบริเวณเต้านมและรักแร้  และห้ามบีบเต้านมเพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
3.ขณะอาบน้ำ 
  •  ผู้ที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจไว้บนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่ใช้ตรวจในท่านอนราบ
  •  ผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจประคองไว้และคลำจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบน (ควรตรวจขณะอาบน้ำและถูสบู่ด้วยจะทำให้คลำง่ายขึ้น)

 

   ข้อควรรู้
  •  ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้นและนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที
  •  ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มตรวจได้ง่าย
  •  

 

อ้างอิง : บทความ เรื่อง เช็ค 7 สัญญาณเตือน! เสี่ยงมะเร็งเต้านม
https://www.nonthavej.co.th/obvious-signs-breast-cancer.php
พญ.กรวรรณ จันทรจำนง
ศัลยแพทย์เต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความ เรื่อง ผลการตรวจแมมโมแกรม บอกได้ว่าเสี่ยง “มะเร็งเต้านม” ในระดับไหน
https://www.nonthavej.co.th/Breast-Cancer.php

บทความ เรื่อง มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รีบรักษา หายขาดได้
https://www.nonthavej.co.th/Breast-cancer-2.php
นพ.ชนินทร์ อภิวาณิชย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์มะเร็งเต้านมและเสริมสร้างเต้านม
ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความ เรื่อง สัญญาณเตือน “มะเร็งเต้านม” ระยะแรกเป็นอย่างไร?
https://www.nonthavej.co.th/breast-cancer-warning-signs.php