หัวใจพิการแต่กำเนิด… เรื่องใหญ่ของหัวใจดวงน้อย...

หัวใจพิการแต่กำเนิด… เรื่องใหญ่ของหัวใจดวงน้อย...

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

   โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิดในอัตรา 8 คน ต่อเด็กแรกเกิดใหม่ 1,000 ราย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว เกิดจากความผิดปกติในการสร้างส่วนต่างๆ ของหัวใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วงแรก หัวใจมีส่วนประกอบเป็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็นห้องต่างๆ 4 ห้อง มีผนังกั้นแยกหัวใจด้านซ้ายและขวาออกจากกัน มีลิ้นหัวใจกั้นแยกหัวใจห้องบนและห้องล่าง

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดได้อย่างไร?

   ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดยังไม่ทราบสาเหตุอย่างชัดเจน อาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์สัมพันธ์กับการมีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect)  และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent  Ductus Arteriosus)

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีอาการอย่างไร?

   อาการแสดงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีได้หลายแบบ เช่น หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย เลี้ยงไม่โต หน้าอกโป่ง เขียว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นลม เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปอาการสำคัญได้ดังต่อไปนี้

 

  • 1. Heart Murmur คือ ไม่มีอาการของโรคอย่างชัดเจน แต่ฟังได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเป็น murmur เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กที่มาพบแพทย์ โดยอาจพบสูงถึง ร้อยละ 30 – 60 ของเด็กทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กทารกหรือเด็กที่มีไข้จะฟังได้ชัดเจนขึ้น 
  • 2. ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) มีอาการแสดงที่บอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ มีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ โดยไม่ได้สัดส่วนกับเสื้อผ้าที่หนาหรืออากาศร้อน
    • การดูดนมใช้เวลานานกว่าปกติ เด็กปกติดูดนมหมดหรืออิ่มใช้เวลาไม่เกิน 15 – 20 นาที แต่ในเด็กที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะใช้เวลานานกว่า หรืออาจใช้เวลาปกติแต่ปริมาณนมน้อยเกินไป (เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ปกติควรดูดนมต่อมื้อ จำนวนเป็นออนซ์เท่ากับน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ตัวอย่างเช่น เด็กน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ควรดูดนมได้มื้อละ  4 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง)
    • อาการตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น
    • ในเด็กโตมักมีอาการเหมือนกับในผู้ใหญ่ เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง
  • 3. อาการเขียว (Cyanosis) โดยสังเกตจากบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ ในเด็กเล็กที่เริ่มมีอาการเขียว อาจเห็นว่าปลายนิ้วมือมีสีแดงเข้มกว่าส่วนอื่น

  โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?

  •    1. ตรวจเอ็กซเรย์ปอด เพื่อประเมินภาวะหัวใจโต และเงาของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงยังปอดทั้ง 2 ข้าง 
  •    2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อประเมินขนาดของหัวใจแต่ละห้อง และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  •    3. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด เพื่อดูความผิดปกติ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ 
  •    4. ตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ในกรณีที่การตรวจพิเศษอย่างอื่นไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจน

 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการรักษาอย่างไร?

 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • 1. การรักษาด้วยยา (Medical Treatment) ได้แก่  กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อควบคุมอาการทางหัวใจ เช่น ในกรณีที่มีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด
  • 2. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) ในกรณีที่มีความผิดปกติ เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หรือ การผ่าตัดปิดผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างที่รั่ว

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการดูแลเด็กอย่างไร?

  • 1. เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ ความดันปอดสูงผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น  
  • 2. ดูแลด้านอาหาร และโภชนาการ งดให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ของหมักดอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม  ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น
  • 3. ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหรือผนังหัวใจ
  • 4. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ควรพาเด็กไปรับวัคซีนต่างๆ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

นพ.ฐิติชัย  เชิงฉลาด
กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช