วิธีตรวจมวลกระดูก มีกี่วิธี ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

วิธีตรวจมวลกระดูก มีกี่วิธี ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ภาวะกระดูกพรุน ระยะแรก “ไม่มีอาการ”  รู้ได้ด้วยการตรวจมวลกระดูก  (Bone Mineral Density : BMD) 
กระดูกพรุนภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ภาวะกระดูกพรุน ( Osteoporosis ) คือ ภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนักและแตกหักตามมา

ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากอะไร ?

ภาวะกระดูกพรุน ( Osteoporosis ) อาจเกิดมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรมและการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น โดยปกติมักพบมากในเพศหญิง แต่เพศชายสามารถพบได้ 20 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาว

อาการของโรคกระดูกพรุนเป็นอย่างไร?

ช่วงแรกจะสังเกตไม่เห็นอาการ  แต่หากพบว่าส่วนสูงเริ่มลดลง  มีอาการหลังค่อม ต่อมารู้สึกปวดที่กระดูกโดยปวดลึกๆ ที่กระดูก เช่น ที่กระดูกหลังขา  และกระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม

สามารถตรวจร่างกายดูว่ากระดูกพรุนได้หรือไม่ ?
การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ( Bone Mineral Density : BMD )

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) เป็นวิธีการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้ทราบว่ากระดูกมีมวลและมีความแข็งแรงอยู่ในระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งการตรวจวิธีนี้จะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียงจากรังสีโดยใช้เครื่องมือที่อาศัยหลักการทางการเอกซเรย์เป็นหลัก เครื่องนี้จะวัดว่ากระดูกมีเนื้อหรือมวลกระดูกมากน้อยเพียงใด  และนำค่าที่วัดได้มาเปรียบเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐาน  ซึ่งปัจจุบันใช้ค่ามวลกระดูกของสตรีชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก  โดยการเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่สามารถจะใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกได้

การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกบอกอะไรได้บ้าง ?
รู้ได้อย่างไร ? ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

   การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกด้วยเครื่องตรวจวัดความหนาน่นของมวลกระดูก BONE DENSITOMETER ทำงานโดยโดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ ซึ่งการเอ็กซเรย์ธรรมดาไม่สามารถจะใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกด้วยเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

   บริเวณที่นิยมทำการตรวจตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ กระดูกสันหลังระดับเอวและกระดูกสะโพก ใช้เวลาการตรวจเพียง 10-15 นาที ขึ้นกับบริเวณที่ทำการตรวจ ให้ผลเป็นค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกเทียบกับค่ามวลกระดูกมาตรฐาน (T-score) โดยนำค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่ได้ (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation หรือ T score ) ซึ่งจะใช้เป็นค่าในการวินิจฉัยโรคว่าเป็นภาวะกระดูกพรุนได้หรือไม่

  •  ค่า T score มากกว่า -1 = ความหนาแน่นกระดูกแบบปกติ (Normal Bone)
  •  ค่า T score ที่อยู่ต่ำกว่า -1 แต่สูงกว่า -2.5 = กระดูกบาง (Osteopenia)
  •  ค่า T score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
ใครบ้างเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน / ควรตรวจววัดความหนาแน่นมวลกระดูก ?
  •  ผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป / ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป
  •  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  •  ผู้หญิงที่เคยได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างก่อนหมดประจำเดือน
  •  เคยมีประวัติกระดูกหัก
  •  ปวดหลัง ปวดเอว และปวดคอเรื้อรัง
  •  ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน
วิธีเตรียมตัวก่อนการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก

ก่อนเข้ารับการตรวจ

  •  ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
  •  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ
    • - หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
    • - กรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่ข้อสะโพกเทียม หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
    • - ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี
  •  งดรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  •  งดสวมใส่เครื่องประดับต่างๆ ในวันที่เข้ารับการตรวจ

ระหว่างขั้นตอนการตรวจ

ผู้ที่เข้ารับการตรวจหรือผู้ป่วยต้องนอนราบลงบนเตียงตรวจ เพื่อวัดความหนาแน่นมวลกระดูกใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

หลังเข้ารับการตรวจ

แพทย์จะอธิบายผลในการตรวจ โดยผลที่ได้จะแสดงค่าเป็น ค่า T score และ Z score

  •  ค่า T score จะเป็นค่าที่เปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจ กับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของผู้ที่มีอายุ 30 ปี
  •  ค่า Z score จะเป็นค่าที่เปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจ กับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของผู้ที่มีอายุที่เท่ากัน
FAQs
ตรวจมวลกระดูกใช้เวลาเท่าไร ?

ใช้เวลาการตรวจเพียง 10-15 นาที ขึ้นกับบริเวณที่ทำการตรวจ

ตรวจมวลกระดูกมีกี่แบบ ?

โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุนใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip), กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) และกระดูกแขนส่วนปลาย (Forearm) โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังส่วนเอวที่นิยมตรวจกันมากที่สุด

มวลกระดูกควรมีกี่% ?
  •  ค่า T score มากกว่า -1 = ความหนาแน่นกระดูกแบบปกติ (Normal Bone)
  •  ค่า T score ที่อยู่ต่ำกว่า -1 แต่สูงกว่า -2.5 = กระดูกบาง (Osteopenia)
  •  ค่า T score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
การตรวจมวลกระดูกเจ็บไหม ?

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) เป็นวิธีการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้ทราบว่ากระดูกมีมวลและมีความแข็งแรงอยู่ในระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งการตรวจวิธีนี้จะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ ไม่เจ็บ และมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากรังสี

อ้างอิง : 
บทความ เรื่อง โรคกระดูกพรุน
https://www.nonthavej.co.th/Osteoporosis.php

บทความ เรื่อง ดูแลตัวเองอย่างไรห่างไกลโรคกระดูกพรุน
https://www.nonthavej.co.th/How-to-take-care-osteoporosis.php

นพ.ชัชวาล ปิยะวรรณสุทธิ์
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกสันหลัง
ศูนย์กระดูกและข้อ