ลูกสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

ลูกสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

โรคสมาธิสั้นในเด็ก เกิดจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง ส่งผลให้เด็กขาดสมาธิ มีอาการซุกซน วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขี้ลืม หุนหันพลันแล่น ใจร้อน รอคอยไม่ได้
อายุเท่าไร? เข้าข่ายเด็กสมาธิสั้น

พบค่อนข้างบ่อยในเด็กวัย 3 - 7 ปี โดยอาการเด็กสมาธิสั้นจะแสดงออกชัดเจนในช่วง 7 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่เด็กเข้าโรงเรียน ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในเวลาเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครูมากขึ้น รวมถึงต้องรู้จักปรับตัวเข้าสังคม พ่อแม่และคุณครูต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็ก

โดยสาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็ก นั้นยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่หนึ่งในนั้นคือการที่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้

ลูกสมาธิสั้น ทำอย่างไรดี?

การดูแลลูกสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู และบุคคลภายในครอบครัวต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันปรับพฤติกรรมเด็ก ช่วยเหลือ และดูแลอย่างเหมาะสม

  • 1.  ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อย
  • เด็กสมาธิสั้นจะมีพฤติกรรมที่ ซน เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีความคิดหลากหลาย พลังเยอะ เหมือนรถเครื่องยนต์แรงแต่เบรคไม่ค่อยดี พูดมาก เสียงดัง ทำอะไรเร็วไม่ค่อยระวัง ทำให้ควบคุมตัวเองยาก ควรมีการฝึกฝนปรับพฤติกรรมอย่างเข้าใจ

  • 2.  เริ่มฝึกจากชีวิตประจำวัน

    เริ่มฝึกปรับพฤติกรรมทีละนิด ให้ทำทีละอย่างเป็นขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป สั้นๆ กระชับ ชัดเจน และทำตัวอย่างให้เห็นจนกว่าเด็กจะทำได้ เช่น แปรงฟันทุกครั้งหลังตื่นนอนและก่อนเข้านอนเองเป็นอัตโนมัติ เป็นการปรับพฤติกรรม ฝึกให้เด็กรู้จักการอดทน และการรอคอย ฝึกให้เด็กมีสมาธิอยู่นิ่ง

  • 3.  หลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

    ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดูมือถือ แท็บเล็ต เล่นคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีเพราะภาพและเสียงเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้เด็กไม่ยอมละสายตา และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง กับกิจกรรมอื่นๆ จนเสี่ยงเป็นเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่และผู้ปกครองควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อย เช่น ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน เพราะเด็กในวัยแรกเกิด - 6 ปี เป็นช่วงสำคัญที่สุดในการเรียนรู้

  • 4.  การรักษาด้วยยา

    โดยทั่วไปแพทย์มักให้การรักษาด้วยยา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมองให้หลั่งสารเคมีออกมาในระดับที่ปกติ ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้และมีสมาธิมากยิ่งขึ้น ซึ่งควรได้รับยาและการดูแลรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง

  • 5.  ปรึกษาจิตแพทย์เด็ก

  • เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพ่อแม่ที่จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาลูกน้อย อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยอาจเริ่มจากการตรวจเพื่อประเมินอาการต่างๆ ให้เห็นถึงปัญหาทั้งด้านพฤติกรรมและการควบคุมอารมณ์ โดยจิตแพทย์เด็กจะคอยให้คำปรึกษา ประเมินปัญหา และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

     

 การป้องกัน สมาธิสั้นในเด็ก

เนื่องจากสาเหตุของโรคสมาธิสั้นในเด็กยังไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้นการป้องกันเด็กสมาธิสั้นจะเป็นการลดความเสี่ยงของปัจจัยด้านต่างๆ

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มสุรา และไม่ใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี รวมทั้งอาศัยอยู่ในสถานที่หรือบริเวณที่มีมลพิษและสารเคมีที่เป็นอันตราย ทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์ตลอดจนช่วงระยะที่เด็กเกิดและเติบโต

ในการดูแลเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่และผู้ปกครองต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ลูกสามารถปรับพฤติกรรมและรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง :

บทความ เรื่อง เช็คซิ! ลูกแค่ซนหรือสมาธิสั้น
https://www.nonthavej.co.th/hyperactivity.php

พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น

บทความ เรื่อง รับมือ! สารพัดโรคเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
https://www.nonthavej.co.th/Various-diseases-children.php

นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล
กุมารแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น