ปวดประจำเดือนเรื้อรัง อันตราย..!! หากละเลยหรือหายารักษาเอง

ปวดประจำเดือนเรื้อรัง อันตราย..!! หากละเลยหรือหายารักษาเอง

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นอาการปวดประจำเดือน จะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน  หลายคนเลือกทานยาบรรเทาอาการปวด  บางรายแม้จะทานยาบรรเทาอาการปวด  บางรายแม้จะทานยาแต่อาการปวดยังไม่ดีขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ปวดจนไปเรียนหรือไปทำงานไม่ได้ร วมทั้งมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย  เช่น  ปวดร้าวไปหลัง   ไปเอว ก้นกบ  ต้นขา  ปัสสาวะบ่อย  ปวดเบ่งขณะขับถ่าย หรือเจ็บท้องน้อยระหว่างมีเพศสัมพันธ์  หากละเลยอาการปล่อยไว้นาน และซื้อยามารับประทานเอง  อาจทำให้เกิดอันตรายได้เลยทีเดียว

นพ.ประทีป  หาญอิทธิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและมีบุตรยาก ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนนทเวช กล่าวว่า “ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนบ่อยและปวดมาก พบว่าร้อยละ 70 เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นอกนั้นเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกในกล้ามเนื้อมดลูก มีพังผืด หากปล่อยไว้นานอาจลุกลามจนเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อมีอาการปวดท้องทั้งก่อนหรือขณะมีประจำเดือน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น

"ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาการปวดประจำเดือนจนเป็นอันตรายร้ายแรง คือ การซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะเมื่อปวดประจำเดือนผิดปกติ มาน้อย มาไม่ปกติ และเลือกทานยาสมุนไพรหรือยาสตรี ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง ซึ่งยาสตรีที่วางขายอยู่ในตลาดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อทานเข้าไปมากๆจะกลายเป็นการเร่งเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โตขึ้น ทำให้เกิดการเติบโตมากขึ้น แทนที่จะหายกลับกลายเป็นปวดท้องยิ่งกว่าเดิมอาจร้ายแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และส่งผลกระทบทำให้มีบุตรยากในอนาคต เนื่องจากพังผืดไปพันรัดท่อนำไข่ ทำให้คดงอหรือตีบตัน"

การปวดประจำเดือนเรื้อรัง

“ส่วนใหญ่แล้วโรคทางนรีเวชจะแปรผันตามอายุ ถ้าอายุเพิ่มขึ้นจะพบโรคหรืออาการได้มากขึ้น ซึ่งสาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือนที่พบบ่อย คือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากเลือดประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับไปที่ท่อนำไข่ ตกลงในอุ้งเชิงกราน และฝังตัวในที่ต่าง ๆ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เยื่อบุช่องท้อง หรือนอกช่องท้อง ซึ่งอาการปวดจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งการฝังตัว และจะเจริญเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเปรียบเหมือนปุ๋ยสำหรับต้นไม้ ช่วงแรกจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ เมื่อฝังตัวมากขึ้นจะเป็นพังผืดขึ้น และสะสมนานจนเกิดเป็นซีสต์ เลือดจะข้น สีเหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกว่า "ช็อกโกแลตซีสต์” สำหรับเยื่อบุโพรงมดลูกที่แทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหนาและมดลูกโต เกิดอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง  เลือดประจำเดือนมามาก ปวดปัสสาวะบ่อย ปวดร้าวไปหลังหรือเอวได้”

รู้เร็ว รักษาได้ หายไว ฟื้นตัวเร็ว!

“อาการปวดประจำเดือนเรื้อรัง จึงเป็นจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สามารถรักษารอยโรคให้เล็กหรือมีอาการน้อยลงได้ ด้วยยาหรือรักษาโดยการผ่าตัด จะทำการตัดเลาะและจี้ทำลายส่วนที่เป็นโรคออกไป ในบางรายที่มีรอยโรคมากจะรักษาด้วยยาต่อไป  ปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องช่องท้องมากที่สุด  เพราะกล้องมีกำลังขยายถึง 20 - 30 เท่า สามารถขยายจุดเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ให้มองเห็นทั่วช่องท้องได้อย่างชัดเจน เก็บรายละเอียดได้มากกว่า เพื่อให้สภาพภายในกลับสู่สภาวะปกติมากที่สุด  ทำลายรอยโรคที่มองเห็นออกให้มากที่สุด แต่แผลผ่าตัดผ่านกล้องจะเล็กกว่า เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวไว อาการหลังผ่าตัดเกิดน้อยกว่า อาทิ พังผืด การบวมช้ำ ติดเชื้ออักเสบ”

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาไปมาก การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป และสามารถรักษาโรคได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้นเมื่อร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่าเกิดความผิดปกติขึ้น อย่างอาการปวดท้องน้อยที่เป็นมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจให้ชัดเจน และรักษาก่อนที่จะสายเกินไป ให้เกิดความเสียหายกับร่างกายน้อยที่สุด หรือลดโอกาสการเป็นโรคที่รุนแรง

ขอบคุณข้อมูล

นพ.ประทีป หาญอิทธิกุล
สาขาและความเชี่ยวชาญ
สูติ-นรีเวช / ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช / มีบุตรยาก
การศึกษา
แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วุฒิบัตร
วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว